วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เศรษฐศาสตร์กับการลงทุนหุ้น ตอน 2 : ทำไมบมจ.ถึงมีรายได้มากขึ้น



กิจกรรมเศรษฐกิจคืออะไร




    เมื่อดำรงชีวิตในสังคม มนุษย์อย่างเราๆก็ต้องมี  การบริโภค การบริโภคหมายถึง  การกิน การใช้สินค้าและบริการ เช่น หิวก็ซื้อข้าว เมื่อยก็ไปนวด ป่วยก็หาหมอ ซื้อมือถือเพื่อใช้งาน ฯลฯ  


    เคยลองคิดเล่นๆไหมครับว่า สินค้าและบริการเหล่านี้มาจากไหน แน่นอนว่าพวกมันไม่ได้ผุดขึ้นเองจากกอไผ่หรืออยู่เฉยๆก็หล่นจากท้องฟ้า  สินค้าและบริการมีได้ก็เพราะมีขั้นตอนและกิจกรรมเพื่อผลิตสินค้าให้เราๆท่านๆเสพกัน  โดยเศรษฐศาสตร์เรียกขั้นตอนนี้ว่า "กิจกรรมเศรษฐกิจ"





กิจกรรมเศรษฐกิจ


    โดย “กิจกรรมเศรษฐกิจหมายถึง การกระทำต่างๆเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ หรือพูดง่ายๆคือ กิจกรรมที่ทำให้สินค้ามาอยู่ในมือเราเพื่อบริโภคนั่นเอง โดยมี 4 หัวข้อคือ การผลิต การกระจาย การแลกเปลี่ยน และการบริโภค


     ตัวอย่างใกล้ตัวของ " กิจกรรมเศรษฐกิจ " ก็คือ เมื่อคนมีความต้องการน้ำอัดลม ก็จะเกิด "การผลิต" เพื่อสร้างน้ำอัดลมมาขาย จากนั้นเกิด "การกระจาย" สินค้าจากโรงงานมาถึงร้านสะดวกซื้อ ต่อไปก็เกิด "การแลกเปลี่ยน" คือ เราต้องเอาสินค้าีที่เราผลิตได้(เงิน หรือ แรงงาน) ไปแลกกับสิ่งที่เราผลิตไม่ได้นั่นคือ น้ำอัดลม และท้ายสุดก็เกิด "การบริโภค" น้ำอัดลมของเรานั่นเอง




ทุกคนคือเจ้าของ "ปัจจัยการผลิต"


 
    เมื่อลองดูลึกอีกหน่อยเรื่องการผลิต จะพบว่าการผลิตสินค้าอะไรสักอย่าง ต้องมีทรัพยากรเพื่อใช้ผลิตเสมอ โดยอะไรก็แล้วแต่ที่ใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อให้เกิดเป็นสินค้าหรือบริการขึ้นมา ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า "ปัจจัยการผลิต"  มี 4 หัวข้อดังนี้


    ที่ดิน ที่ดินในการผลิตสินค้า เช่น ที่ดินสำหรับเพาะปลูก ทิ่ดินที่ตั้งโรงงานผลิตสินค้า


    แรงงาน ความคิดและกำลังงานของมนุษย์ที่ใช้ในการผลิต


    ทุน ทางเศรษฐศาสตร์ หมายถึง สิ่งก่อสร้างและเครื่องจักรเครื่องมือที่ใช้ผลิตสินค้า


    ผู้ประกอบการ ผู้ที่รวบรวมปัจจัยการผลิตต่างๆ มาผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปและนำไปขายต่อผู้บริโภค








    แล้วใครคือเจ้าของปัจจัยผลิต  คำตอบคือ  คนเราๆอย่างท่านและทุกคนคือเจ้าของปัจจัยผลิต  เช่น นาย ก เป็นเจ้าของแรงงาน จึงขายแรงงานแก่ผู้ประกอบการ   นาย ค มีที่ดิน 5 ไร่ นาย ค จึงเป็นเจ้าของที่ดิน  เป็นต้น 



    โดยหนึ่งคนอาจเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตมากกว่า 1 ชนิด เช่น คุณแม่เป็นเจ้าของร้านขายขนม ก็จะเป็นเจ้าของที่ดิน,แรงงาน,อุปกรณ์ขายขนม(ทุน)และแถมเป็นผู้ประกอบการด้วยเลย





หน่วยเศรษฐกิจกับการลงทุนหุ้น




    หน่วยเศรษฐกิจ คือ กลุ่มบุคคลหรือกลุ่มบริษัทที่ทำ กิจกรรมเศรษฐกิจ โดยหน่วยเศรษฐกิจแบ่งเป็น 3 ชนิดดังนี้


    1. หน่วยครัวเรือน คือ กลุ่มของ "ครัวเรือน" ที่อยู่ในประเทศ แล้วครัวเรือนประกอบด้วยอะไรล่ะ ??  ก็ประกอบด้วย  กระผม ท่านผู้อ่าน เพื่อนเรา คนข้างบ้าน คนเดินถนน หรือพูดรวมๆก็คือประชาชนทั่วๆไปนั่นแหละ  ดังนั้นตัวเลขที่เกี่ยวกับหน่วยครัวเรือนจึงเป็นตัวเลขที่สะท้อนพฤติกรรมของประชาชนทั่วไปด้วย


    2. หน่วยธุรกิจ คือ กลุ่มของ "ผู้ประกอบการ" นั่นก็คือ บริษัท ห้างร้าน รวมถึงบมจ.ในตลาดหุ้นด้วย หน่วยธุรกิจเป็นผู้รวบรวมปัจจัยการผลิตเพื่อนำมาผลิตและจำหน่ายให้กับผู้บริโภค


    3  หน่วยรัฐบาล  เป็นผู้ควบคุมและออกกฎหมาย แต่บางครั้งก็เป็นผู้ผลิตสินค้าและบริการเสียเอง  เช่น บริการรักษากฎหมาย (ตำรวจ)  บริการป้องกันประเทศ (ทหาร)




     หน่วยเศรษฐกิจโดยเฉพาะหน่วยเครือเรือนกับหน่วยรัฐบาลสัมพันธ์กับราคาหุ้นอย่างมาก เมื่อหน่วยเศรษฐกิจทั้ง 2 บริโภคมากขึ้น  ราคาหุ้นที่เกี่ยวข้องมักเพิ่มขึ้นด้วย  


    เพราะ บมจ. ในตลาดหุ้น ก็คือส่วนหนึ่งของหน่วยธุรกิจที่ผลิตสินค้าจำหน่ายแก่หน่วยเศรษฐกิจทั้ง เมื่อการบริโภคมากขึ้นส่งผลให้บมจ.ขายของได้มากและกำไรมากขึ้น  ราคาหุ้นของบมจ.จึงเพิ่มสูงขึ้นด้วย





    
    ในทางกลับกัน หากเกิดเหตุการณ์บางอย่าง เช่น หน่วยครัวเรือนบริโภคลดลง หน่วยรัฐบาลประสบปัญหาการคลังจนงบประมาณบริโภคสินค้าลดลง ฯลฯ จะส่งผลให้ราคาหุ้นที่เกี่ยวข้องลดลงด้วย เพราะ บมจ. จะขายสินค้าได้น้อยและกำไรลดลง ส่งผลให้ราคาหุ้นของ บมจ. ลดลงด้วย





    

     บทความหน้ามาขยายความเรื่อง"หน่วยครัวเรือน" เพื่อจะได้ทราบว่าการบริโภคที่เพิ่มขึ้นมาจากสาเหตุอะไรกันครับ


     นักเก็งกำไรด้วยปัจจัยพื้นฐาน



สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน 3.0 ประเทศไทย.
อยู่บนพื้นฐานของงานที่ http://thai-hybridinvestors.blogspot.com/.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Google