วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เศรษฐศาสตร์กับการลงทุนหุ้น ตอน 3: หน่วยเครือเรือนกับการลงทุนหุ้น (ตอนแรก)





หน่วยครัวเรือนคือกลุ่มของ ครัวเรือนที่อยู่ในประเทศ  เมื่อพูดถึงหน่วยเครือเรือนจะมีนัยยะถึง ภาพรวมของประชาชนทั่วไป เช่น รายได้ การมีงานทำ หนี้สิน ฯลฯ เพราะผู้อาศัยในครัวเรือนก็คือ กระผม ท่านผู้อ่าน เพื่อนบ้าน คนทั่วไป หรือพูดง่ายๆก็คือประชาชนตาดำๆนั่นแหละ


การบริโภคหน่วยครัวเรือน มีผลต่อรายได้บมจ.อย่างมีนัยสำคัญ
เพราะจากข้อมูลพบว่า การบริโภคภาคครัวเรือนคิดเป็นครึ่งหนึ่งของมูลค่าสินค้าและบริการที่ประเทศไทยผลิตได้ทั้งหมด สมมุติว่าไทยผลิตสินค้าและบริการทั้งปีมูลค่า 100 ล้านบาท (บมจ.ก็เป็นส่วนหนึ่งในการผลิตสินค้า) กว่า 50 ล้านบาทจะถูกซื้อโดยภาคครัวเรือน  ภาคครัวเรือนจึงมีความสำคัญเพราะมีสัดส่วนบริโภคสินค้าและบริการมาก ดังนั้นหากภาคครัวเรือนบริโภคมากขึ้น  บมจ.จะขายของได้มากและมีรายได้มากขึ้น   แต่หากการบริโภคลดลง บมจ. จะขายของได้น้อยและมีรายได้ลดลงตามด้วย


จากข้อมูลข้างต้น สิ่งที่ต้องทราบก็คือ การบริโภคภาคครัวเรือนปัจจุบันเป็นอย่างไรและมีแนวโน้มยังไงในอนาคต  หากจะทราบสถานะนี้  ก็ต้องรู้ว่า ขณะนี้ครัวเรือน มีเงินบริโภคหรือเปล่า  และ มีปัจจัยกระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือนหรือไม่



หน่วยครัวเรือนเอาเงินจากไหนมาบริโภค??






            คำตอบก็คือ หน่วยครัวเรือนขายปัจจัยการผลิต นั่นคือ แรงงาน,ที่ดิน, ทุน ให้กับหน่วยธุรกิจเพื่อได้เงินมาใช้จ่าย  


ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือ   มนุษย์เงินเดือนทุกคนในไทย เช่น วิศวกรซ่อมเครื่องจักร สาวเนิรส์ทำบัญชี พริตตี้ขยี้สวาท  ป้าแก่ๆเจ้าแม่โรงงาน  ทุกคนล้วนอยู่หน่วยครัวเรือน และขาย ปัจจัยการผลิต คือ แรงงาน&ทักษะ เพื่อได้ซึ่งเงินสดมาใช้จ่ายทั้งสิ้น


ดังนั้น “เงินเดือนจากการทำงาน” จึงเป็นสิ่งสำคัญของหน่วยเครือเรือน เพราะเป็นท่อน้ำเลี้ยงหลักที่จ่ายเม็ดเงินให้ภาคครัวเรือนมีกินมีใช้ 


แม้มีบ้างที่มีรายได้จากการขาย ที่ดิน&ทุนแต่พี่น้องตรองดูเถิด คนธรรมดาที่ขายที่ดิน&ทุนเป็นหลัก  จะมีสักกี่คน  มันน้อยดั่งจำนวนนายพลในหมู่ทหาร  มองไปรอบตัวก็เห็นอยู่ว่าเป็นมนุษย์เงินเดือนหาเช้ากินค่ำทั้งนั้น


จึงสรุปว่ารายได้หลักของหน่วยครัวเรือนก็คือเงินเดือนการจากทำงานนั่นเอง


            จากข้อมูลข้างต้น นักลงทุนจึงต้องสนใจ  อัตราการว่างงาน(Unemployment rate)  เพราะการมีงานคือมีเงิน มีเงินก็บริโภคได้ ซึ่งถ้าอัตราการว่างงานสูงขึ้น  แสดงว่าเงินบริโภคสินค้าลดลง  รายได้ของบมจ. ย่อมลดลงตาม ในทางกลับกัน หากอัตราว่างงานต่ำ ก็แสดงว่าหน่วยเครือเรือนมีศักยภาพบริโภคสินค้าจากบมจ.  รายได้ของบมจ.จึงมีโอกาสเติบโตตามด้วย  



มนุษย์เลือกบริโภคสินค้าจากอะไร
             

เมื่อมีเงินแล้ว มันก็ต้องกินต้องใช้  สิ่งที่น่าศึกษาคือ คนเราบริโภคสินค้าหรือทำอะไรสักอย่างด้วยสาเหตุอะไร


นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า คนตัดสินใจกระทำหรือบริโภคสิ่งที่  คุ้มค่า  สูงสุดเมื่อเทียบกับสิ่งที่เราจ่ายไป  โดยเรื่องอื่นๆ เช่น ข้อเท็จจริง ราคา แม้กระทั่งสิ่งนั้นดีและถูกต้องหรือไม่ เอาเข้าจริงกลับไม่มีผลต่อการตัดสินใจมากนัก



            คุณอาจไม่เชื่อว่ามันเป็นแบบนั้น แต่หากลองมองไปรอบตัว จะเห็นว่าข้อความข้างบนเป็นจริงอยู่ไม่น้อย  


            เมื่อ 2-3 ปีก่อนแถวดิโอลด์สยาม เราจะพบคนเข็นรถส่งของวิ่งข้ามถนนโดยไม่ขึ้นสะพานลอยเป็นระยะ ทั้งที่ตามเหตุผล การฝ่าข้ามถนนแถวดิโอลด์คือเรื่องไม่สมควรอย่างยิ่งเพราะรถแถวนั้นชุกชุมและอุดมสมบูรณ์ด้วยมอเตอร์ไซด์ขาซิ่งดิ่งนรก การวิ่งข้ามถนน จึงเสี่ยงต่อการ สวัสดียมบาลเพราะเสี่ยงจะถูกรถเสยไปกินเอาง่ายๆ


แต่ความก็จริงคือ ท่านจะเห็นการเสี่ยงชีวิตวิ่งข้ามถนนหน้าดิโอลด์สยามแบบต่อเนื่อง คำถามคือ ทำไมจึงมีคนกล้าท้านรกอยู่บ่อยๆ


            คำตอบของคำถามนี้ ถ้าท่านถามนักเศรษฐศาสตร์ เขาจะตอบท่านว่า  คนวิ่งข้ามถนนเพราะเขาคิดแล้วว่า คุ้มค่า ที่จะทำ นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า เรากระทำหรือบริโภคสิ่งที่คิดแล้วว่า คุ้มค่าเสมอ  ซึ่งการวิ่งข้ามถนน  สมองจะเปรียบเทียบระหว่าง ประโยชน์ ที่ได้รับ เช่น ส่งของมากรอบขึ้น  ไม่ถูกด่าหากส่งของล่าช้า และไม่ต้องแบกของหนักขึ้นสะพานลอย กับ สูญเสียเช่น ความเจ็บปวด การสูญเสียอวัยวะ หรือแม้กระทั่งเสียชีวิต  ถ้าถนนว่างพอจะข้าม คนส่งของจะรู้สึก  คุ้มค่าที่จะเสี่ยง เพราะโอกาส สูญเสียมีน้อยเมื่อเทียบกับ ประโยชน์ ที่ได้ทันทีทันใด ดังนั้นคนส่งของจึงตัดสินใจที่จะข้ามถนนโดยไม่ขึ้นสะพานลอย


            ในทางกลับกัน วินาทีนั้น มีรถวิ่งซิ่งเร็วบนถนน มอเตอร์ไซด์ฉวัดเฉวียนไปมา จนไม่มีจังหวะข้ามถนนได้เลย  คนส่งของจะรอ  รอจนกว่าคุ้มค่าที่จะข้ามถนน หรือถ้ารอไม่ได้ เขาก็จะข้ามสะพานลอย เพราะคุ้มค่าที่จะเสียเวลาและเสียแรงขนของ มากกว่าเจ็บปวดหรือเสียชีวิตจากการถูกรถชน


อีกตัวอย่างที่เป็นสากลมากๆคือ บุหรี่ ทุกคนรู้ว่าบุหรี่มีข้อเสียเยอะแยะตาแป๊ะไก่  เปลืองเงิน ปากเหม็นและอันตรายต่อสุขภาพอย่างยิ่ง ฉะนั้นตามเหตุตามผล จึงไม่ควรมีมนุษย์คนใดบนโลกสูบบุหรี่


            แต่ข้อเท็จจริงเป็น หนังคนละม้วน  ปัจจุบันคนสูบบุหรี่ทั่วโลกมากกว่า 1,300 ล้านคน หรือประมาณเท่ากับประชากรทั้งหมดของยุโรปและอเมริกาเหนือรวมกัน  คำถามคือ ทำไมคนสูบสิ่งไม่ดีมากมายขนาดนี้  สาเหตุก็เพราะ เขาคิดว่า คุ้มค่า ที่จะสูญเสียเงินทอง สุขภาพ และเวลาในชีวิต แลกกับความเกษมสำราญ จากการอัดควันมะเร็งผ่านลำคอเข้าสู่ปอด


จึงสรุปว่า มนุษย์เลือกทำอะไรสักอย่าง จากสิ่งที่เขาคิดว่ามัน คุ้มค่า ที่สุดนั่นเองครับ


ปัจจัยที่ทำให้ครัวเรือนบริโภคมากขึ้น(1) : ทำไม ศุกร์ต้นเดือนรถจึงติด
       



    
ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ข้อหนึ่งกล่าวว่า เมื่อคนมีเงินมากขึ้น  ก็จะใช้จ่ายมากขึ้นตาม หรือเอาศัพท์วิชาการหน่อยก็คือ บริโภคมากขึ้นนั่นเอง


             ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ถ้าใช้เศรษฐศาสตร์มาอธิบาย ก็เพราะว่าเมื่อมีเงินมากขึ้น เราจะมีศักยภาพบริโภคสินค้าที่คิดว่า "คุ้มค่า" มากขึ้นตามด้วย


ตัวอย่างเช่น สมัยเราไม่มีเงิน โทรศัพท์ธรรมดา ก็เพียงพอต่อการพูดคุยแล้ว  แต่พอมีเงินมากขึ้น  เราก็เริ่มซื้อ “Smartphone” เพราะมัน คุ้มค่า เมื่อเทียบประโยชน์ได้ที่รับ ซึ่งเมื่อเรามีเงินมากขึ้นอีก  เราอาจจะซื้อคอนโดใกล้ office เพราะมัน คุ้มค่าต่อการไม่ต้องฝ่าวิกฤตจราจร มาทำงานในเขตกรุงเทพชั้นใน


อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ  มีผลงานวิจัยชี้ชัดว่า พฤติกรรมมนุษย์มักคิดว่า ประโยชน์ในปัจจุบันคุ้มค่ากว่าการรอคอยประโยชน์ในอนาคต ดังนั้นการที่มนุษย์จ่ายเงินบริโภค สิ่งที่ได้ประโยชน์ทันที   จึงเกิดขึ้นประจำและเป็นเรื่องที่เราเห็นจนชินตา   


จึงเป็นสาเหตุว่า  ทำไม วันศุกร์ต้นเดือน  รถในกรุงเทพจึงติดนรกแตก เพราะเมื่อเงินเดือนออก เราก็จะพร้อมจ่ายเงินออกมาบริโภคและหาความสำราญ เช่น shopping ดูหนัง เข้าผับ ฯลฯ กันอุตลุต เนื่องเพราะเราได้ประโยชน์ในปัจจุบันทันที  ไม่เหมือนกับเอาเงินไปฝากธนาคาร ทำประกัน หรือลงทุน ซึ่งดูจะเป็นเรื่องของประโยชน์ในอนาคตมากกว่า  


สรุปได้ว่า การมีเงินเพิ่มขึ้น จึงเป็นตัวเร่งการบริโภคภาคครัวเรือนให้สูงขึ้นครับ
           

ปัจจัยที่ทำให้ครัวเรือนบริโภคมากขึ้น(2) : แรงจูงใจจากภายนอก





           ถ้าคุณมี IPAD รุ่นล่าสุดแล้ว คุณจะซื้ออีกสักเครื่องไหม ?? ในภาวะปกติก็คงไม่ เพราะมีอยู่แล้วก็ไม่รู้จะซื้อมาทำไม แต่หากมีเหตุหรือ แรงจูงใจจากภายนอก คุณเชื่อไหมครับว่าความคิดและพฤติกรรมของคุณจะเปลี่ยนไป


          นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า คนเราจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่าง เมื่อมี แรงจูงใจจากภายนอก” เข้ามา ตัวอย่างเช่น คนมีนิสัยนอนตื่นสายจะเปลี่ยนเป็นตื่นเช้า หากมีสอบแต่เช้า คนธัมมะธำโมจะเปลี่ยนไป หากอยู่ กลางดง ของสถานเริงรมย์และอาบอบนวด   คนติดบุหรี่จะหยุด เมื่อหมอแจ้งว่าเป็นมะเร็ง เป็นต้น


         “แรงจูงใจจากภายนอกยังมีผลต่อการบริโภคด้วย กลับมาโฟกัสเรื่อง IPAD ผมเคยพบร้านขาย IPAD นำสินค้ามาขายในราคาปกติ ซึ่งดูจะไม่มีใครสนใจนัก แต่พอผู้ขายสร้าง "แรงจูงใจ" ด้วยการลดราคาเหลือ 5,000 บาทเท่านั้นแหละ คนก็มารุมซื้อ IPAD2 ราวกับฝูงปิรันย่าได้กลิ่นเลือด สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตุเห็นคือ หลายคนต่อคิวซื้อ ทั้งที่มี “IPAD” อยู่ในมือด้วยซ้ำ แสดงว่าแรงจูงใจจากภายนอกทำให้คนควักกระเป๋าเพื่อบริโภคได้ แม้ภาวะปกติเขาจะไม่ต้องการสินค้านี้ก็ตาม


         การเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคจาก “แรงจูงใจจากภายนอก” ของมนุษย์นี้เอง  คือสาเหตุที่รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (เช่น FED , ธปท.) คลอด นโยบายออกมา เพราะหวังว่า นโยบายจะขับเคลื่อนพฤติกรรมภาคครัวเรือน ไปในทิศทางที่รัฐบาลหรือหน่วยงานต้องการ


        ตัวอย่างเช่น ปี 2008 ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) เริ่มใช้นโยบาย QE (Quantitative Easing) คือ อัดฉีด เงินมหาศาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้ลงทุนและซื้ออสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐลดลงจนอยู่ในระดับ ต่ำมาก QE จึงทำให้การบริโภคภาคครัวเรือนของสหรัฐเพิ่มขึ้น เพราะประชาชนเกิดแรงจูงใจในการกู้เงินเพื่อบริโภคสินค้าและอสังหาริมทรัพย์มากกว่าตอนอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง



       ในประเทศไทยก็ใช้นโยบายเพื่อจูงใจให้บริโภคมากขึ้น  ที่เห็นๆก็คือ โครงการ รถคันแรกที่คืนเงินให้คนซื้อรถสูงสุด 100,000 บาท ผลก็คือ ปี 2555 อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ทุบสถิติยอดการผลิตมากที่สุดใน 51 ปีและมียอดขายในประเทศเพิ่มกระฉูดกว่า 70%  การซื้อรถที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญอันสืบเนื่องจากนโยบายของรัฐบาล สะท้อนว่า  "แรงจูงใจจากภายนอก" คือ สิ่งที่จูงใจให้พฤติกรรมการบริโภคของภาคครัวเรือน เปลี่ยนแปลงไปได้ 

------------

      วันนี้จบแค่นี้ ครั้งหน้ามาต่อเรื่อง "ภาคครัวเรือน" ให้จบครับ

สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน 3.0 ประเทศไทย.
อยู่บนพื้นฐานของงานที่ http://thai-hybridinvestors.blogspot.com/.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Google