วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ซื้อหุ้นด้วยทฤษฎีระบบผลประโยชน์ ในความคิดของผม

26/12/56 เป็นอีกครั้งที่ "ข่าวร้าย" กระหน่ำเต็มตลาด เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว ส่งออกกำลังจะติดลบในรอบ 4ปี โครงการรัฐติดหล่ม การเมืองเละเป็นโจ๊กและไม่มีวี่แววสมานฉันท์ "เหตุผล"ทั้งหมดกำลังชี้ว่า "ขายหุ้น" 


ขณะนี้จึงเป็นเวลา "ซื้อหุ้น" ตามทฤษฎีระบบผลประโยชน์ ซึ่งกล่าวว่า "จงเป็นคนส่วนน้อยของตลาด เพราะ

คนส่วนใหญ่จะขาดทุนเสมอ" ผมสังเกตุว่า เวลานี้ สื่อทุกช่อง ทุกเว็บบอร์ด กูรูทุกสำนัก ฟันธงเหมือนกันว่า "ขาย" เพราะไม่มีเหตุใดเลยที่สนับสนุนว่า หุ้นจะขึ้น เมื่อคนส่วนใหญ่เห็นไปในทางเดียวกัน เหตุผลกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีความหมาย แต่จะให้น้ำหนักกับ Oversold แทน เมื่อคนส่วนมากขาย เราต้องซื้อ






ส่วนตัวผมศึกษาและใช้ทฤษฎีระบบผลประโยชน์ในการลงทุน วันนี้เป็นอีกครั้งที่ผมคิดว่า "ระบบทำงานแล้ว" จึงเป็นจังหวะซื้อหุ้นมากกว่าขาย โดยวิธีการซื้อหุ้นด้วยทฤษฎีระบบผลประโยชน์แบบของผมมีดังนี้



1. ทำใจยืดหยุ่น (**สำคัญมาก**) 

ซื้อหุ้นแบบทฤษฎีระบบผลประโยชน์ คือ ซื้อบริเวณที่คิดว่าระบบทำงาน มิใช่ "ซื้อจุดต่ำสุด"  ดังนั้นต้องไม่หวังว่าซื้อแล้วจะขึ้นทันที  อาจลงต่อได้ เพราะคาดการณ์เป๊ะๆในตลาดหุ้น ยากยิ่งกว่าอุ้มช้างอาบน้ำ 20 ตัว ดังนั้น ต้องเป็นนักลงทุนระยะกลางถึงยาว ซื้อแล้วรอได้ 1-2 ปี หากรักลงทุนด้วยทฤษฎีนี้ ต้องใจกว้าง ยืดหยุ่นเรื่องเวลา ยอมรับความจริงตรงนี้ได้


2. ซื้อหุ้นพื้นฐานดี

อันนี้คุณพิชัยไม่ได้กล่าวไว้ แต่ผมว่าใช่ ต้องซื้อหุ้นพื้นฐานดีตอนภาวะตลาดไม่ดี เหตุผลไม่ดี เพราะสุดท้าย ราคาของหุ้นพื้นฐานดีจะกลับมา ไม่ใช่ไปซื้อหุ้นปั่น หุ้นเน่า หุ้นขาดทุนซ้ำซาก เพราะในระยะยาว ของไม่ดียิ่งถือนาน ยิ่งรอนาน ยิ่งขาดทุน เราจึงควรซื้อแต่ของดีที่มีปัญหาชั่วคราวเท่านั้น


3. ทะยอยซื้อ


เมื่อมั่นใจว่าระบบทำงาน คุณพิชัยบอกว่า สามารถ "ทะยอยซื้อ" เพราะราคาอาจลงต่อ การทะยอยซื้อทำให้ต้นทุนถูกลง 


4. Price Pattern + SAP

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวผมไม่ "ทะยอยซื้อ" หุ้นตอนตกหนักเหมือนคุณพิชัย เพราะผมอาจคิดผิดก็ได้ การทะยอยซื้อหุ้นขาลงแล้วราคาไม่กลับมาเหมือนที่คิด  ระเบิดจะลง ความฉิบหายจะเกิด สร้างความบรรลัยต่อพอร์ตได้มาก 

วิธีการส่วนตัวที่ใช้คือ Price Pattern + SAP คือ เมื่อผมมั่นใจว่าระบบทำงาน จะเฝ้าระวังเพื่อซื้อ รอจนราคาไม่มี newlow เกิด price pattern ของการกลับตัวราคา  เมื่อนั้นผมจะซื้อไม้แรก โดยกำหนดแนวรับไว้ หากซื้อแล้วราคาไม่ขึ้นเหมือนที่คิดและลงต่อจนหลุดแนวรับ ผมก็ขาย เพื่อไปรอรับที่ราคาต่ำกว่า (SAP) 



price pattern : double bottoms

วิธีการนี้ข้อดีคือ ขาดทุนน้อยเมื่อคิดผิด เป็นการเข้าถ้ำเสือเพื่อเอาลูกเสือ โดยพก "ตัวช่วย" ไปด้วย เพื่อให้ไม่ให้ถูกทำร้ายบาดเจ็บเกินไป


ทั้งหมดข้างต้น เป็นการ "ซื้อหุ้น" ด้วยระบบผลประโยชน์ของผม พี่น้องอ่านแล้วคิดเห็นเช่นใด เชิญแสดงความเห็นได้  ถือว่าเป็นการเผยแพร่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม

นักเก็งกำไรด้วยปัจจัยพื้นฐาน 

Read More »

วันพุธที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2556

หุ้น:Thaibev กำลังแย่ จริงหรือ ???

สัปดาห์นี้มีข่าว "น่าสนใจ" เกี่ยวกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) (Thaibev) ถูก S&P ลดอันดับ Credit Rating อยู่ในระดับ BB- หรือ ขยะ อันหมายถึง S&P เห็นว่า Thaibev กำลังมีปัญหาทางการเงิน จนโอกาสที่เจ้าหนี้ จะถูก Thaibev “ชักดาบ หรือไม่จ่ายเงินกู้ มีสูงขึ้น


ข่าวนี้ทำให้ผมเกิดความสงสัยใคร่รู้อย่างมาก 
เนื่องจาก Thaibev เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ดำเนินงานมายาวนาน และขยายงานอย่างต่อเนื่อง ผมจึงหาข้อมูลทางการเงินของ Thaibev  เพื่อพิจารณาว่า สุขภาพการเงินของ Thaibev กำลังแย่ลง ตามที่ S&P ให้ข่าว จริงหรือไม่ ?? 


โดยส่วนตัวเห็นว่า การเช็คสุขภาพการเงิน ว่า บจ.ไหน กำลังมีปัญหา สามารถพิจารณาจาก 1. กระแสเงินสดของบริษัท 2. หนี้สินและความสามารถชำระหนี้  3. ความเสี่ยงจากการมีหนี้  เพราะหากข้อมูลทั้ง 3 ข้างต้น   ชี้ว่าบจ. กำลัง ถังแตก”  ก็มีโอกาสสูงว่า บจ. จะมีปัญหาในอนาคต


อย่างไรก็ตาม ข้อมูลงบการเงินปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่า Thaibve มีสุขภาพการเงินระดับ แข็งแรงดี  มิได้ย่ำแย่มากมายนัก  โดยอาศัยข้อมูลสนับสนุนดังนี้


1. กระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง

บจ. ที่มีปัญหาทางการเงิน มักเป็น บจ. ที่ธุรกิจไม่สามารถสร้าง เงินสดเพียงพอต่อค่าใช้จ่าย 

ประหนึ่งพ่อค้าขายของ แต่เก็บ เงินสดได้เพียงเล็กน้อย ย่อมเกิดภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัก ขาดเงินสดเพื่อซื้อของขายหรือใช้จ่ายในร้าน ย่อมถูกบีบให้ กู้เงินมาใช้จ่ายให้ร้านค้าเดินหน้าต่อได้ 

การกู้เงินมากๆ ทำให้เกิดภาระะดอกเบี้ย ยิ่งกู้มากๆ จนหาเงินมาต่อดอกไม่ทัน  อาจสร้างความบรรลัยแก่กิจการ จนล้มหายตายจากไปได้


ซึ่งจาก งบกระแสเงินสด เมื่อ 30 กันยายน 2556 พบว่า  Thaibev  มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็น + อันหมายถึง กิจการยังคง ผลิตเงินสดให้ Thaibev ได้  อีกทั้งมีจำนวนมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนด้วย 

โดย Thaibev มีกระแสเงินสดจากการดำเนินการ ในวันที่ 30 กันยายน 2556 เท่ากับ 13,105 ล้านบาท มากกว่าเวลาเดียวกันของปีก่อน 1,052 ล้านบาท เท่านั้นไม่พอ ยังจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นเป็นเงิน 10,546 ล้านบาทอีก สะท้อนว่า บจ. ยังมีเงินสดเพียงพอใช้จ่าย

งบกระแสเงินสด ประจำไตรมาส 3 /56


จ่ายปันผลชิวๆ



2. ความสามารถชำระดอกเบี้ยสูง ,D/E น้อยกว่า 1


ประเด็นต่อมาคือ เรื่องหนี้ของ Thaibev จากงบการเงินพบว่า Thaibev มีหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจริง โดยปี 2555 Thaibev มีหนี้สินรวม 122,175 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  400% เมื่อเทียบกับปี 2554 โดยมีสาเหตุจากการกู้เงินจำนวนมหาศาล มาซื้อหุ้นของบริษัท F&N ทำให้ Thaibev  มีหนี้สินสูงขึ้นอย่างมาก


อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ เมื่อบจ. มีหนี้เพิ่มขึ้นมากแล้ว  บจ. มี ศักยภาพจัดการหนี้ที่เกิดขึ้นหรือไม่  ถ้าหากบจ. ยังเอาอยู่  ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร อุปมาดังผู้มีรายได้สูงมาก กู้เงินมาสร้างบ้านสัก 50 ล้าน แม้มีหนี้เพิ่ม  50 ล้าน แต่หากรายได้มีมากพอที่จะจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ได้แบบสบายๆ ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันแต่อย่างได้


โดยสิ่งสะท้อนว่า Thaibev  มี ศักยภาพการเงินเพื่อจัดการหนี้สินที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ดูได้จาก ความสามารถชำระดอกเบี้ยอันหมายถึงว่า เมื่อหักค่าใช้จ่ายดำเนินการแล้ว บริษัทยังมีเงินเหลือเพียงพอต่อการชำระดอกเบี้ยหรือไม่  โดยปี 2555 Thaibev มีความสามารถชำระดอกเบี้ยถึง  28 เท่า นั่นหมายถึง กำไรจากการดำเนินงาน ยัง เหลือเฟือต่อการชำระดอกเบี้ยเงินกู้


อีกสิ่งหนึ่งคือ อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ซึ่งค่านี้ถ้าต่ำกว่า 1 ถือว่า ดี  เพราะแสดงว่า บจ. มีหนี้น้อยเมื่อเทียบกับทุนบริษัท โดยล่าสุด  Thaibev มี D/E = 0.93 ซึ่งกว่าต่ำกว่า 1 อยู่ดี นั่นแสดงว่า ก่อนกู้เงินมาซื้อ F&N Thaibev  มีหนี้สินต่ำมากอยู่แล้ว ดังนั้นถึงจะมีหนี้สินเพิ่มขึ้นมามาก ก็ยังอยู่ใน  ค่ามาตรฐานอยู่


ข้อมูลจากรายงานประจำปี 55


D/E ณ 30/9/56 แค่ 0.93


3.ความเสี่ยงของเงินกู้


ประเด็นสุดท้ายคือ ความเสี่ยงของเงินกู้ เนื่องจาก Thaibev  กู้เงินระยะยาวจากสถาบันการเงินเป็นจำนวนมาก จึงควรดูด้วยว่า มีความเสี่ยงอะไร  ทำให้ มูลค่าเงินกู้เพิ่มสูงขึ้นในอนาคตจนเป็นปัญหาแก่ Thaibev หรือไม่


โดยเมื่อดูจากรายงานประจำปี 2555 พบว่า ไม่น่าห่วง  เพราะถึงแม้ดอกเบี้ยส่วนใหญ่ต้องชำระเป็นเงิน ดอลลาร์สิงค์โปร์  ซึ่งอาจทำให้  Thaibev มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน  อย่างไรก็ตาม ได้มีการป้องกันความเสี่ยงโดยทำสัญญาซื้อขายเงินล่วงหน้า ทำให้  Thaibev  ไม่ได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินที่ผันผวนมากนัก


ใส่ถุงป้องกันเรียบร้อย ไม่น่าห่วง


สรุป


โดยส่วนตัวผมเห็นว่า สุขภาพการเงินของ Thaibev ยังอยู่ในภาวะ แข็งแรง สะท้อนจาก บจ ยังมีกำไรต่อเนื่อง  มีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง  ความสามารถชำดอกเบี้ยสูง  D/E ต่ำ และมีการป้องกันความเสี่ยงดีพอสมควร ส่วนเรื่องที่ ถูก S&P ลดอันดับ Credit Rating อยู่ในระดับ BB- หรือ Junk นั้นก็ต้องให้เวลาพิสูจน์ว่า จะส่งผลกระทบกับ Thaibev อย่างไร

ที่มาข้อมูล http://thaibev-th.listedcompany.com/financials.html
Read More »
Google