วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2555

Five Force Model ของ ไมเคิล อี พอร์เตอร์ กับการลงทุนหุ้น(ตอนแรก) : ตัวอย่างการวิเคราะห์


  




 1.        ภัยคุกคามจากสินค้าทดแทน

อุตฯโทรคมนาคม มีภัยคุกคามจากสินค้าทดแทนที่  "สูง"  
 เพราะเทคโนโลยีเคลื่อนไหว  ว่องไวปานรถซิ่งจากนรก

     
     ปี  2001  ญี่ปุ่นเปิดบริการ  3G  ที่แรกในโลก และแพร่ไปทุกทวีปเร็วราวกับไฟลามทุ่ง  (แต่ไม่ยักลามมาประเทศไทย ^__^

     เดี๋ยวเดียว 11 ปีผ่านไป  หลายประเทศสะบัดตูดจาก 3G อย่างไม่เหลือเยื่อใย  แล้วหันไปเสพเอ๊าะๆ ใสๆ อย่าง 4G กันแล้ว 

     แสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีของอุตฯโทรคม มันเปลี่ยนกันบ่อย อย่างกับ เปลี่ยนผ้ากันเปื้อนในร้านอาหาร  

     ส่วนประเทศไทย ลูกค้าอยากใช้ 3G จริงมากๆ  เห็นได้จากมูลค่าบริการ  Non voice (อินเตอร์เน็ตบนมือถือ) เพิ่มสูงขึ้นกว่า 20% แบบปีต่อปี

    คาดว่าหลังจาก กสทช ทำคลอด 3G สำเร็จ  ผู้ประกอบการต้องรีบเร่ง  แข่งขันกันเปลี่ยนระบบจาก 2G มาเป็น 3G  แบบไม่คิดชีวิต  

    เพราะจากประวัติศาสตร์ อุตสาหกรรมนี้ไม่อนุญาตให้ "วัตถุโบราณ" ดำรงเผ่าพันธ์ในตลาดได้ต่อไป

    อุตฯโทรคมนาคมจึงมี  ภัยคุกคามจากสินค้าทดแทนที่สูงครับ




 
2.     ภัยคุกคามจากผู้บริโภค

อุตฯโทรคมนาคม มีภัยคุกคามจากผู้บริโภค  “ต่ำ 
เพราะรายได้ไม่กระจุกที่รายใดอย่างมีนัยยะสำคัญ


    ภัยคุกคามจากผู้บริโภค หมายถึงผู้บริโภคมีอำนาจต่อรองกับผู้ประกอบการแค่ไหน หรือ มีกฏหมายคุ้มครองเข้มงวดหรือไม่ 

     ในอุตฯโทรคมไทย ผู้บริโภคมีอำนาจต่อรองต่ำ เพราะเงินจากผู้บริโภคแต่ละราย เป็น % น้อยนิดกระจิ๋วหลิว เมื่อเทียบกับรายได้ทั้งหมดของผู้ประกอบการ

     เมื่อเกิดปัญหากับผู้บริโภคจนเกิดการร้องเรียนหรือย้ายค่าย   ผู้ประกอบการจึงเอาหูทวนลมเสียเป็นส่วนมาก    ตราบเท่าที่ปัญหานั้นไม่กระทบกับรายได้อย่างมีนัยสำคัญ

    อีกทั้ง กสทช ที่มีหน้าที่ ออกกฎหมายควบคุมผู้ประกอบการ  เอาเข้าจริง ก็ " บ่มีไก๊ " เท่าไหร่

    เห็นได้จากกรณี  "ชั่วโมงหมด มึงอดใช้" ที่ผู้บริโภคต้องเสียเงินมากกว่าที่ควร หรือ บางผู้ประกอบการ เครือข่ายล่มปากอ่าวซ้ำซาก จนผู้บริโภคเสียสิทธิในการใช้งานอยู่บ่อยๆ

   กสทช ก็ไม่สามารถบังคับให้ผู้ประกอบการ แก้ไขหรือชดใช้สมน้ำสมเนื้อแก่ผู้บริโภคแต่อย่างใด 

   ผู้บริโภคมีอำนาจต่อรองต่ำ แถม ผู้ประกอบการ "ดื้อยา" แบบนี้ อุตฯโทรคมนาคมจึงมี ภัยคุกคาม จากผู้บริโภคที่ ต่ำ ครับ






3. ภัยคุกคามจากคู่แข่งในอุตฯเดียวกัน

อุตโทรคมฯ มีภัยคุกคามจากคู่แข่งในอุตฯเดียวกัน " สูง " 
เพราะต้องแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดกันตลอดเวลา


    รายได้หลักของผู้ประกอบการโทรคม จะเป็นตามสมการดังนี้ครับ
 

รายได้หลัก = รายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อเลขหมาย (ARPU) x จำนวนผู้ใช้บริการที่จ่ายเงิน
  

    ในประเทศไทย  เทคโนโลยีและสินค้าของผู้ประกอบการ  สามารถ " เลียนแบบ "   กันได้เพราะไม่มีใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์  


    สินค้าที่เลียนแบบง่าย และไม่มีความต่างแบบนี้  การเพิ่มรายได้หลักโดยเพิ่มค่าบริการ (ค่าบริการสูง = ARPUสูง)  ก็เหมือนการ "ถีบตัวเองลงหลุมศพ" 

    เพราะลูกค้าจะหนีไปใช้บริการคู่แข่ง ที่มีราคาต่ำกว่าอย่างรวดเร็ว 

    เมื่อเพิ่ม ARPU ไม่ได้  ผู้ประกอบการจึงมักใช้กลยุทธ์เพิ่มจำนวนผู้ใช้  ด้วยการ "แย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด" จากคู่แข่ง

     ข้อสำคัญ อุตฯโทรคมเอง มี switchcost ต่ำ ยิ่งเย้ายวนให้เกิดการกระชากลูกค้าจากอ้อมอกของคู่แข่ง  

     เพราะทำแล้วก็มีโอกาสสำเร็จสูง หากผู้ประกอบการใช้กลยุทธทางตลาดที่ดีพอ

     จากเหตุและปัจจัยดังกล่าวข้างต้น  อุตโทรคมฯ จึงมีภัยคุกคามจากคู่แข่งในอุตฯเดียวกันที่สูงครับ








4. ภัยคุกคามจาก Supplier 

อุตโทรคมฯ มีภัยคุกคามจาก Supplier  " ต่ำ " 
เพราะผู้ประกอบการซื้อของจาก  Supplier จำนวนมาก จึงมีอำนาจต่อรองสูง

     
     วัตถุดิบที่ผู้ประกอบการ ต้องหาจาก Supplier มี 2 อย่างดังนี้ครับ

     1. อุปกรณ์โครงข่ายเพื่อให้บริการ  2. คลื่นความถี่

     ข้อ 1 อุปกรณ์โครงข่าย  เวลาผู้ประกอบการซื้อที ต้องใช้คำว่า " จัดหนัก " ครับ

     เพราะแต่ละรายไม่ใช่องค์กรระดับ "อบต" ซื้อแค่ 20-30 ตัว ใช้กันเองในท้องถิ่น

     แต่ติดตั้งกัน"ทั่วประเทศ"  volume  สั่งซื้อจึงเพียบบบบ

     ข้อสำคัญ  Supplier ที่ขายอุปกรณ์โทรคม ก็มีเยอะพอๆกับ " แม่ค้าในตลาดสด " 

     สั่งซื้อเยอะๆๆ แถมมีตัวเลือกมาก อำนาจต่อรองกับ Supplier เลยสูงปรี๊ดดด....


     ข้อ 2  คลื่นความถี่  อันนี้ต้อง "ประมูล" จาก กสทช มา

     คลื่นความถี่นี้  "นักเก็งกำไรฯ"  ขอ "ฟันธง" ว่า อุดมสมบูรณ์และไม่ขาดแคลน อย่างแน่นอน
     
     เพราะคลื่นความถี่  ไม่เสื่อมสภาพ ใช้แล้วไม่หมดไป ไม่เหมือนทรัพยากรสิ้นเปลือง เช่น น้ำมัน ถ่านหิน หรือ แร่อื่นๆ

     อีกทั้ง ผู้ดูแลคลื่นความถี่อย่าง กสทช  ก็เป็น "พี่ใหญใจดี " ต่อผู้ประกอบการมาตลอด

     เห็นได้จาก การตั้งเงื่อนไขให้น้องๆกระเป๋าหนัก ไม่ต้องประมูลราคาแข่งกันเอง

     แถมยังลดราคาต่ำกว่าการประเมินบานตะเกียงแถมเบิ้ลให้ไปอีก

     มีพี่ใหญ่คอยเสิร์ฟ "คลื่นความถี่" แถมซื้อของ Volume เยอะๆอีก อุตโทรคมฯไทย จึงมีภัยคุกคามจาก Supplier ที่ต่ำครับ



5. ภัยคุกคามจากคู่แข่งรายใหม่

อุตโทรคมฯ มีภัยคุกคามจากคู่แข่งรายใหม่  " ต่ำ " 
เพราะใช้เงินลงทุนสูงมาก และต้องแข่งขันอย่างรุนแรง


  
     บริษัทฯไหน อยาก "แบ่งเค้ก" ในอุตโทรคมฯไทย ต้องใช้คำว่า เจ้าบุญทุ่ม ครับ

     เพราะต้องลงทุนมหาศาล ติดตั้งระบบทั่วประเทศเพื่อทัดเทียมกับคู่แข่ง

     "นักเก็งกำไรฯ" เคยคิดเล่นๆว่า ถ้าติดตั้งระบบทั่วประเทศ ต้องใช้เงินลงทุนเท่าไหร่

     สอบถามจากผู้รู้มาว่า เงินลงทุนเสาโทรคมเพียวๆ 1 ต้น ปาเข้าไป 2ล้านบาท+

     งบนี้ยังไม่รวมค่าอุปกรณ์ ค่าน้ำค่าไฟ และอีกเยอะแยะหยุมหยิม

     อีกทั้ง เสาโทรคมต้นเดียว ก็ครอบคลุมพื้นที่แค่ 20 - 30 กิโล

     หรือกินพื้นที่แค่จากอนุสาวรีย์ชัยไปถึงสวนจตุจักร

     แล้วต้องปักเสาเท่าไหร่ ถึงครอบคลุมพื้นที่  513,115  ตารางกิโลเมตร ของประเทศไทย ???

     แถมกว่าจะให้บริการแก่ลูกค้าได้ ต้องลงทุนค่าสำนักงาน เงินเดือนพนักงาน ค่าการตลาด และอื่นๆอีกเพียบบบบ

     
      โอ้วแม่เจ้าาา !!!  คิดเล่นๆก็งบประมาณมหาศาลสุดจะบรรยายแล้ว  


      แต่สมมุติถ้ามีบริษัทเงินใหญ่ใจนักเลง ลงทุนจนเปิดบริการได้จริงๆ 

      ก็ต้องมาสู้รบฟาดฟันกับ "3 มาเฟียใหญ่" เจ้าตลาดเดิมอีก

      ซึ่งแต่ละราย ทรัพยากร กลยุทธ์ และกำลังภายใน  ก็ระดับ "ซือแป๋เรียกพี่" ทั้งนั้น

      เรื่องปล่อยให้หน้าใหม่ แย่งลูกค้าได้แบบสบายๆ เบิร์ดๆ  คงเป็นแค่ ฝันกลางวัน

      จากข้อมูลทั้งหมด หากคิด "แจ้งเกิด"  ในอุตฯนี้ จึงยากพอๆกับ " อุ้มช้างอาบน้ำ 20 ตัว "

     เข้ายากและแข่งขันสูงแบบนี้  อุตโทรคมฯจึงมีแรงดึงจากคู่แข่งรายใหม่ที่ "ต่ำ" ครับ 



สรุป Five Force Model  ของ ไมเคิล อี พอร์เตอร์ ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย

    ในความเห็นของ "นักเก็งกำไรฯ" ก็มีรายละเอียดดังนี้ 





  
    เดี๋ยวสัปดาห์หน้าต่อกันเรื่อง การนำแรงดึงทั้งห้ามาปรับใช้กับการลงทุนครับ ^__^


    ขอบคุณครับ

    นักเก็งกำไรด้วยปัจจัยพื้นฐาน

     http://thai-hybridinvestors.blogspot.com/  หรือ เข้า google ค้นหา "นักเก็งกำไรด้วยปัจจัยพื้นฐาน"   

สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน 3.0 ประเทศไทย.
อยู่บนพื้นฐานของงานที่ http://thai-hybridinvestors.blogspot.com/.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Google