วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2557

หุ้น:3 บทเรียน ที่ทำให้คุณทำเงินจาก Techno Fundamental

ผมเคยลงทุนแบบพื้นฐานร่วมเทคนิคแล้ว "ขาดทุน"  เมื่อมองย้อนกลับไป ผมคิดว่า สาเหตุเกิดจาก "ความไม่เข้าใจ" หลักการบางอย่าง   ผมจึงขอแชร์ "ความผิดพลาด"  ในการใช้ พื้นฐานร่วมเทคนิค”(TF) ของผมเอง เพื่อช่วยให้คนสนใจลงทุนแนวนี้ จะได้ปั้มเงินกันเลยเลย ไม่ผิดพลาดซ้ำรอยเดิมกับผมอีก



1. TF คือ "นักเก็งกำไร" ไม่ใช่ "นักลงทุน"




แม้ TF จะเล่นหุ้นพื้นฐานดี แต่ TF คือ "นักเก็งกำไร"  ไม่ใช่ นักลงทุน  เพราะ TF มี Mindset ที่สวนทางกับนักลงทุนอย่างสิ้นเชิง  จากหนังสือ "ที่ปรึกษาสอนวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุนอย่างนักการเงิน" ของ อ. ชาย กิตติคุณาภรณ์ กล่าวถึงลักษณะของ "นักลงทุนตัวจริง" ว่า


   -   นักลงทุนซื้อหุ้นเมื่อต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง  ของมูลค่า 100 ต้องซื้อให้ได้ 70  เพราะต้องการกำไรทันทีเมื่อซื้อ ไม่ใช่ซื้อแล้วหวังกำไร
   -   สิ่งที่คาดหวังจากซื้อหุ้น คือ กระแสเงินสดจากกิจการ ไม่ใช่ส่วนต่างราคาหุ้น   ไม่ว่าราคาจะหกคะเมตีลังกาหลายตลบแค่ไหน ก็ไม่สน ตราบเท่าที่กิจการยังดี ผลิตเงินสดได้ตามหวัง



แต่ TF ไม่ใช่เลย TF ต้องการ "ส่วนต่างราคา" และซื้อขายหุ้นตามแนวโน้ม แตกต่างกับนักลงทุนราวดำกับขาว



ความชัดเจนตัวตนคือเรื่องสำคัญมาก ปัญหาจะเกิด เมื่อ TF ซื้อผิดพลาด เกิดแนวโน้มขาลง แต่ไม่ยอมขาย หรือ ทำ SAP กลับคิดว่าตัวเองคือ "นักลงทุน"  คือจะ "ถือยาว" แบบถึงไหนถึงกัน






สิ่งที่ตามมาคือ  TF มักทนผ่าน ขาลงไปไม่ได้ และขายขาดทุนตอนราคาลงเยอะแล้ว เพราะ TF หวัง ส่วนต่างราคา เมื่อ "ผิดหวัง" จากการขาดทุนเพิ่มเรี่อย ๆ จะบีบคั้นให้ TF ขายหุ้นในที่สุด และช่วงเวลาที่ผิดหวังและเครียดสูงสุด จนต้องยอม Cutloss ออกมา มักเป็นเวลาใกล้จุดต่ำสุดของรอบพอดี ดังนั้น TF ที่ทนถือหุ้นขาลง เมื่อถึงตอนอวสาน มักจบด้วยการขาดทุนหนัก



ดังนั้น TF ต้องมี “Mindset” แบบ นักเก็งกำไรระยะกลาง คือ เป็นนักเล่นรอบใหญ่ ถ้ามีแนวโน้มขาลง ต้อง เผ่นทันที มาทางไหน ไปทางนั้น จากประสบการณ์ผม การที่แรกเป็นมะลิซ้อน แตกใบอ่อนเป็นมะลิลา คือ ซื้อด้วยเหตุหนึ่ง แต่ขายด้วยอีกเหตุหนึ่ง มักไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ครับ



2. แหกคอกไปเล่นหุ้นนอก Watchlist บ่อยๆ


นักเก็งกำไรที่สำเร็จ ต้องทำ ตามระบบที่เลือกแล้วว่ามีโอกาสทำกำไรสูงกว่าขาดทุน แม้แต่ขนาดนักเก็งกำไรระดับเซียนอย่าง “Mark Douglas” ยังบอกว่า เขามีคำแนะนำข้อเดียวคือ ทำตามระบบเพราะเป็นหนทางสู่การทำกำไรจากตลาดในระยะยาว







ระบบของ TF คือ การใส่เงินในหุ้นพื้นฐานดี กำไรจะโตในอนาคต แต่ในโลกความจริง เราจะได้ยินและเห็น  “หุ้นเด็ดที่ราคาพุ่งกระฉูดในเวลาสั้น หุ้นที่ผู้บริหาร ฉายหนังโฆษณาใหญ่เกินจริง หรือหุ้นที่มี สัญญาณเทคนิคสวยหุ้นเหล่านี้ เป็นหุ้นที่ “Sexy” เสน่ห์ของมัน มักเย้ายวนให้เราออกจากระบบ เพื่อไปยุ่งเกี่ยวกับหุ้นเหล่านี้เสมอ



ส่วนตัวผมเชื่อว่าหุ้นดังกล่าว สามารถทำกำไรแก่นักลงทุนได้ แต่ต้องเป็น ซือแป๋” ในหุ้นประเภทนี้ด้วย หุ้นเหล่านี้เปรียบเหมือนรถ “F1” ที่วิ่งถึงเส้นชัยได้ไว แต่ก็ต้องการคนขับที่เชี่ยวชาญ และเข้าใจรถอย่างลึกซึ้ง เพราะหากพลาด เกิดอุบัติเหตุขึ้นมา คนขับรถย่อมเจ็บหนัก โชคร้ายอาจเสียชีวิต  




หุ้นก็เช่นกัน เมื่อเราฝึกฝน มีระบบการลงทุนแบบหนึ่ง แต่ แหกกฏไปเล่นหุ้นซึ่งบ่อยๆ ย่อมเสี่ยงต่อการบาดเจ็บเนื่องจากขาดความเชี่ยวชาญเล่นหุ้นพวกนี้  อย่าลืมว่า หุ้นที่ขึ้นไว ตอนลงจะไวยิ่งกว่า หากคุณเกิด ซวยซื้อบริเวณสูงสุดพอดี แล้วหุ้นถูกทุบอย่างหนักโดยไม่ทันตั้งตัว ก็จะสร้างความเสียหายรุนแรงมากๆ เปรียบเหมือน สึนามิพัดถล่มพอร์ตของคุณทีเดียว





จงเล่นเกมที่คุณได้เปรียบ และ มีโอกาสชนะมากที่สุดครับ



3. ซื้อขายด้วย “Technical” บ่อยเกินไป



หากใช้ “Technical”  ซื้อ-ขายหุ้น ยิ่งมอง "ช่วงเวลา" (Timeframe) สั้นเท่าไหร่ การซื้อขายจะบ่อยขึ้นเท่านั้น และโอกาส "ผิดพลาด" ก็เพิ่มเป็นเงาตามตัว ที่สำคัญคือ ใช้ประโยชน์จาก "ปัจจัยพื้นฐาน" ได้น้อย



เมื่อเริ่มแรกที่ใช้ "พื้นฐานร่วมเทคนิค"  ผมใช้ Timeframe ที่สั้น คือ 120 นาที และสั้นลงเรื่อยๆ ราวกับกางเกงของใบเตยอาร์สยาม คือ 60 , 30  และ 15  เมื่อเล่นสั้นสักระยะ ผลที่เกิดขึ้นมีดังนี้


     -   ซื้อขายบ่อย ค่าคอมระเบิดเถิดเทิง โอกาสผิดพลาดมาก
     -   พอร์ตไม่ค่อยโต ได้น้อย แต่บางครั้งโดนขาดทุนก้อนใหญ่







เมื่อเวลาผ่านไป ผมจึงสรุปว่า หากรักจะเล่นสั้น สิ่งที่ควรศึกษาจริงๆคือ  Money management และ จิตวิทยาลงทุน มากกว่า เพราะการเล่นสั้นด้วย "Technical" อย่างเดียว เสมือน ล่องเรือโดยไม่มีเข็มทิศ คือ ออกแรงเหนื่อยแต่ค่อยไม่ถึงเป้าหมาย การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน จึงไม่จำเป็นนัก เอาเวลาไปศึกษาสิ่งจำเป็น จะ เกาถูกที่คันมากกว่า



ส่วนตัวผมเห็นว่า การใช้พื้นฐานและเทคนิคร่วมกัน ให้ได้กำไร จะต้องเป็นคนเล่นรอบ คือ เมื่อราคาหุ้นพื้นฐานดีลงมาเยอะ ก็รอดู ถ้าไม่มีจุดต่ำสุดใหม่ (Newlow) ก็พยายามซื้อใกล้ๆ Newlow นั่นแหละ  หากซื้อแล้วราคาไม่ต่ำกว่า Newlow ก็พยายามถือหุ้นสัก 3-6 เดือน  เพื่อให้กำไรที่เติบโตของบจ. "ดึงดูด" นักลงทุนเข้ามาซื้อหุ้น หรือถ้าราคาขึ้นมาจนพอใจแล้ว จะขายก็ได้ ไม่มีข้อบังคับ เพราะกำไรไม่เคยทำร้ายใคร   



อย่างไรก็ตาม หากซื้อแล้ว ราคาลดลงต่ำกว่า Newlow ก็ต้องขายก่อน เพื่อรับที่ต่ำกว่า หรือ SAP ครับ



โดยวิธีการหาจุด Newlow ผมใช้ "หลักการ" ของพี่ณัฐวัฒน์ อ้นรัตน์ ในหนังสือแมงเม่าสำราญ บทที่ 10 เพียงแต่ผมใช้กราฟ Day เพราะไม่อยากซื้อ-ขายบ่อยๆ  ส่วนรายละเอียดอื่นก็เหมือนกัน



สรุป


บทเรียนความผิดพลาดของผม ที่ทำให้การใช้ พื้นฐานและเทคนิคร่วมกันแล้วขาดทุน คือ 1. เข้าใจตัวตนคาดเคลื่อน 2. ไม่ทำตามระบบ 3. ซื้อขายด้วยเทคนิคบ่อยเกินไป โดยไม่มี Money management หากต้องการทำกำไรจากการใช้ พื้นฐานและเทคนิคร่วมกันต้องก้าวข้ามเรื่องดังกล่าวไปให้ได้ครับ

Read More »

วันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2557

การใช้พื้นฐานและเทคนิคลงทุนร่วมกัน คืออะไร และมันทำเงินให้คุณได้อย่างไรบ้าง

ผมเป็นนักเก็งกำไรที่ใช้ทั้ง "พื้นฐานและเทคนิค" บทความนี้ผมขอแชร์ว่า ใช้ทั้งพื้นฐานและเทคนิคร่วมกัน คืออะไร มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร และมันทำเงินให้คุณอย่างไรบ้าง


Hybrid Investor คืออะไร ???

ตอนผมเริ่มลงทุนแบบ "ใช้พื้นฐานและเทคนิค" ผมคิดว่า มันคือ "Hybrid investor" (HI) และเริ่มหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตว่า HI ลงทุนยังไง ผลคือ แทบไม่พบข้อมูล HI ที่เป็น "สากล" เลย ผมสังเกตุว่า มีแต่ "website ไทย" เท่านั้น ที่ใช้คำว่า HI กัน (ถ้าไม่เชื่อ คุณลองพิมพ์คำว่า Hybrid investor ใน google ดู)  โดยมีคำอธิบายสั้นๆว่า HI คือ "เลือกหุ้นด้วยพื้นฐาน ซื้อ-ขายด้วยเทคนิค"


หลังค้นคว้าข้อมูลเกือบ 1 ปี ผมมีความเห็นส่วนตัวว่า HI ไม่มี "นิยามสากล" เพราะจริงแล้ว การเลือกหุ้นด้วยพื้นฐาน ซื้อ-ขายด้วยเทคนิค" สากลเรียกว่า Techno Fundamental


เป็น “ Thailand Only คือ มีแต่คนไทยเรียกกัน


ทำไมต้องกล่าวเรื่อง "ชื่อถูกต้อง" เป็นเรื่องแรก  ??? เพราะ ชื่อถูก ทำให้คุณหาข้อมูลใน google ได้ถูกต้องโดนใจ  ไม่เหมือนผมที่เข้าใจว่า เลือกหุ้นด้วยพื้นฐาน ซื้อ-ขายด้วยเทคนิค คือ Hybrid Investor  ผลคือ หาข้อมูลยาก ราวกับหาน้ำในทะเลทราย ทำให้ผมต้องลองผิดลองถูกเกือบปี  กว่าจะใช้ทั้งพื้นฐานและเทคนิคร่วมกัน แล้วไม่ขาดทุน


ถ้าสนใจวิธี "เลือกหุ้นด้วยพื้นฐาน ซื้อ-ขายด้วยเทคนิค" ลอง search หาคำว่า Techno Fundamental (TF) จะได้ข้อมูลเยอะครับ


TF ในแบบของผม


TF คือ "นักเก็งกำไร" ชนิดหนึ่ง ที่เลือกหุ้นที่จะใส่เงินด้วย " ปัจจัยพื้นฐาน"  เพราะนักเก็งกำไรทุกแนว จะมี "Pattern" หรือรูปแบบซื้อขาย ที่เลือกแล้วว่า มีโอกาสกำไรสูงกว่าขาดทุน โดย "Pattern" ของนักเก็งกำไรแต่ละกลุ่มจะต่างกัน เช่น ใช้เส้นค่าเฉลี่ยซื้อขาย บางคนใช้ Price Pattern บางคนใช้ indicator  หรือ อื่นๆ


Pattern ซื้อขายของ TF  คือ "ซื้อหุ้นพื้นฐานดี" เพราะ HI เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ว่า หุ้นพื้นฐานดี โดยเฉพาะพวก Superstock ที่กำไรยังโตได้  เมื่อราคาลดลง สุดท้ายจะพุ่งทะยานขึ้นใหม่เสมอ  และราคามีโอกาสเพิ่มสูงกว่าเดิม ตามกำไรที่โตต่อเนื่อง  ดังนั้น TF จะซื้อหุ้นพื้นฐานดีใน "บริเวณตกหนัก"  เพื่อหวังจะ  "ซื้อต่ำขายสูง"


TF  ชอบ "น้ำพริกถ้วยเก่า" คือ ซื้อขายหุ้นเดิมๆ หรือหุ้น Watchlist ที่คุ้นเคย โดยจะ "สะกดรอย" หุ้นแค่ 5-10 ตัว ทำให้ง่ายต่อการติดตามราคาและพื้นฐานของบจ. และจะขจัดออกจาก  Watchlist  เมื่อพื้นฐานของ บจ. ไม่ดีเหมือนเดิมหรือกำไรโตยากแล้ว


TF  มักไม่ใส่เงินในหุ้น ที่รู้จักผิวเผินหรือเพียงเพราะเกิดสัญญาณซื้อทาง "Technical"  เพราะเสี่ยงกว่า  อุปมาดังการลงทุนกับคนไว้ใจ ย่อมเสี่ยงน้อยกว่าฝากเงินไปกับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้หัวนอนปลายเท้าเสมอ


TF เชื่อใน "แนวโน้ม" พวกเขาคิดว่า ราคาหุ้นเคลื่อนที่ตามแนวโน้มหนึ่งไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่ง แนวโน้มนั้นก็จะสิ้นสุดลง และหันเข้าสู่แนวโน้มใหม่  วนเวียนแบบนี้เป็นวัฎจักร  HI ใช้ความเชื่อนี้ซื้อขายหุ้น โดยซื้อหุ้นพื้นฐานดี เมื่อขาลงสิ้นสุด  และขายหุ้นเมื่อขาขึ้นจบแล้ว


สรุปคือ  TF คือ Trend Following ที่ซื้อขายแต่หุ้นพื้นฐานดี


TF ก็คือ Trend Following ที่ซื้อขายหุ้นพื้นฐานดี




ทำไม TF ถึงช่วยให้ได้เงินจากตลาดหุ้น


1. มูลค่าพอร์ตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ : TF ใส่เงินใน superstock ที่ธุรกิจมั่นคง กำไรโตต่อเนื่อง และซื้อตอนราคาลงหนัก  หุ้นเหล่านี้ราคาลดลงตลอดไป ??? ไม่ .... มันกลับมาเสมอเหมือนพระอาทิตย์ ตกแล้วก็ขึ้นใหม่ โอกาส "ซื้อต่ำขายสูง" จึงมาเรื่อยๆ บางทีคุณอาจ "ถูกหวย" โดยซื้อหุ้นแล้วราคาขึ้นต่อเนื่อง เกิดแนวโน้มขาขึ้น คุณจะทำกำไรก้อนใหญ่ 

พอร์ตที่ "ชื้อต่ำขายสูง" และ "กำไรมากกว่าขาดทุน" เรื่อยๆ ก็เสมือนบริษัทที่กำไรซ้ำชาก มูลค่าบริษัทย่อมเพิ่มในระยะยาว


2.  ป้องกันเงินต้น  เพราะ TF จะตัดสละเรือทันที เมื่อเกิดแนวโน้มขาลง จึงขาดทุนเล็กน้อย พอจบขาลง คุณจะมีเงินสด มีโอกาสเอาคืน  มูลค่าพอร์ตจะฟื้นง่ายเพราะไม่ต้องเร่งรัดทำกำไรเป็น % มากๆ  การปล่อยให้ขาดทุนมากอุปมาดังตกหลุมลึก ลงง่ายขึ้นยาก ต้องตะเกียกตะกาย เสียแรง เสียเวลา ปีนกลับไปจุดเดิมซึ่งไม่ได้ก้าวหน้าอะไรเลย  ดังนั้นหากไม่ลงทุนยาวจริง หยุดขาดทุนเป็นเรื่องสำคัญมาก


3. ไม่กลัวไม่เครียด   เพราะหากไม่มีหุ้น ความกลัวและเครียด จะถูกนรเทศจากชีวิตคุณชั่วคราว เมื่อไม่เจอกัน  มันทำอะไรคุณไม่ได้





กระผมกราบเรียนว่า อย่าดูถูก "ความกลัวและเครียด"  จากติดหุ้นที่สูงเด็ดขาด ผมเจอมาแล้ว มันอึดอัด เครียด เป็นทุกข์อย่างบอกไม่ถูก สาเหตุที่ความกลัวและเครียดจะกดดันให้เราทำสิ่งผิดพลาด เพราะกลัวและเครียดเป็นเรื่องอารมณ์ ซึ่งมีอำนาจเหนือเหตุผล เมื่ออารมณ์ครอบงำ สติจะหลุดและทำสิ่งผิดพลาด เช่น ขายหุ้นดีราคาถูก ขายขาดทุน สูญสิ้นสมาธิ เสียงานเสียการ  ระเบิดอารมณ์ใส่คนรอบข้าง ซึ่งทั้งหมดไม่ก่อคุณประโยชน์ใดๆ คนส่วนมากที่เจ๊งหุ้น มักเกิดจากความกลัวและเครียดรุมทำร้าย ดังนั้นการลงมือแต่เนิ่นๆ  จึงป้องกันภัยจากศัตรูทั้ง 2 ได้


ข้อเสียของ TF  ในความคิดผม


1.  Cutloss  คือเรื่องธรรมชาติ  ความจริงย่อมไม่สวยงามเหมือนละคร   เมื่อซื้อแล้วไม่ขึ้น  ซื้อแล้วลง ซื้อผิดตัว   TF ต้องยอม Cutloss เสียน้อยเพื่อรักษาเงินทุน  การขาดทุนเล็กน้อยคือสัจธรรมที่ TF  ต้องทำใจรับให้ได้
  

2. กำไรน้อย เพราะ TF  ซื้อ-ขายบ่อยกว่านักลงทุนระยะยาว โอกาสกำไร 10 - 20 เด้ง จึงน้อยพอๆกับถูกหวยและมีต้นทุนค่าคอมฯ มากกว่า นอกจากนั้น TF  ไม่ค่อยใส่เงินใน "หุ้นปั่น" โอกาสกำไรระยะสั้นมากๆ จึงน้อยกว่านักเก็งกำไรที่กระโจนสู่หุ้นที่ราคาขึ้นลงรวดเร็วเหมือนรถไฟเหาะ


3.  เรียนรู้เยอะ TF ใช้  "พื้นฐาน" และ "กราฟ"  จึงต้องขนขวายหาเรียนเพิ่ม ถามว่าต้องเรียนขนาดไหน ก็ขนาดว่า รู้ว่าหุ้นไหนกำไรจะโตในอนาคต และ เข้าใจวิธีคิดของการเก็งกำไรตามแนวโน้ม จึงต้องศึกษามากหัวข้อ เมื่อเทียบกับการ Focus ที่ลงทุนแบบใดแบบหนึ่ง


ตัวอย่างนักลงทุน Techno Fundamental 




Nicolas Darvas

ต้นแบบ Techno Fundamental ผู้เป็นอมตะ   Nicolas ตัด "ข้อเสีย" ของทั้งพื้นฐานและเทคนิคออก และคัดเฉพาะ "ข้อดี" มารวมกัน จนมีแนวทางการลงทุนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ เลือกหุ้นด้วยพื้นฐาน ซื้อ-ขายด้วยเทคนิค เขาใช้หลักการนี้ทำกำไรจากตลาดในปี 1957 -1958 ได้ถึง $2,450,000.00 ในเวลา 18 เดือน


วิธีการลงทุนที่ประสบความสำเร็จ โด่งดัง และ นิยมถึงปัจจุบัน ก็คือ "BOX theory." หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ " ช่วงเวลาสะสมหุ้น "  Nicolas ให้ความสนใจกับราคาหุ้นที่มีรูปแบบ "สะสมหุ้น" คือ รูปแบบคล้ายกล่องสี่เหลี่ยม  โดย Nicolas จะเข้าซื้อหุ้นเมื่อราคาทะลุกล่องขึ้นไป และหากราคาทำรูปแบบกล่องอีกครั้ง แต่ราคาทะลุลง เขาก็จะขายออก



ตัวอย่าง Box theory ของ Nicolas



หนังสือแนะนำของ Nicolas คือ How I Made $2,000,000 in the Stock Market  ที่ยังได้รับความนิยมถึงทุกวันนี้




ภาวิทย์ กลิ่นประทุม : 

เฮียแพท เซเล็บหุ้นผู้หล่อเหลา เขาคือ  Techno Fundamental ผู้โด่งดังของเมืองไทย สไตล์เขาคือ "ใช้ Technical เพื่อหาจังหวะซื้อหุ้นพื้นฐานดี " โดยเฮียชอบบอกว่า เมื่อราคาตกหนัก จนถึงเขต Oversold นั่นคือจุดซื้อ

อย่างไรก็ตาม เฮียเป็นนักลงทุนระยะกลางถึงยาว คือ ซื้อแล้วทิ้ง ไม่ขาย (จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้) ดังนั้น ใครรักจะลงทุนแนวนี้ ก็ต้องอดทนอยู่กับหุ้นนานพอสมควร

ใครสนใจก็ติดตามเฮียเขาได้ที่ https://www.facebook.com/savestock


สรุป

การลงทุนด้วยวิธี เลือกหุ้นด้วยพื้นฐาน ซื้อ-ขายด้วยเทคนิค มีชื่อสากลคือ Techno Fundamental โดยวิธีการลงทุนแบบ TF ของผมก็คือ ซื้อหุ้นพื้นฐานดีเมื่อขาลง (Up Trend) จบแล้ว และขายออกเมื่อราคาเป็นขาลง (Down Trend) ซึ่งมีข้อดีคือ พอร์ตโตเรื่อยๆ ป้องกันภัยจากความเครียดและความกลัว แต่ก็มีข้อเสียคือ ต้อง Cutloss หากผิดทาง และ กำไรน้อยครับ 

Read More »

วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2557

ทำไม "วิธีการ" ใน One Up on Wall Street จึงทำให้ขาดทุน

One Up on Wall Street คือ หนังสือการลงทุนที่ยอดขายถล่มทลายที่สุดเล่มหนึ่งของโลก สาเหตุที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เพราะเขียนโดยผู้รู้จริง อธิบายเรื่องยากให้ง่าย และเข้าใจดีเหลือเชื่อ จึงได้รับการยอมรับว่า มันเหมาะกับทุกคน ตั้งแต่มหาลัยยันใกล้เกษียณ เนื่องจากคนทั่วไป สามารถทำได้โดยไม่ยากเกินไป จนกลายเป็น "ต้นแบบ" วิธีการลงทุนให้กับคนเป็นล้านๆจนถึงทุกวันนี้


แต่มีกี่คนที่รู้ว่า หลังจากวางแผง 10 ปี ผู้เขียน คือ Peter Lynch พบว่า คนจำนวนมาก ใช้หลักการในหนังสือแล้ว "ขาดทุน" 



คำถามคือ เกิดอะไรขึ้นกับผู้อ่านเหล่านั้น


จากการพูดคุย Lynch สังเกตุว่า พวกเขา "เข้าใจผิด" ต่อหลักการบางอย่าง ซึ่งเป็นหลักการ "สำคัญยอดฮิต" ที่อยู่ในหนังสือด้วย



ความเข้าใจผิดของเรื่อง “Shopping”


1 ในคำแนะนำฮอตฮิตและคนนิยมใช้มากที่สุดของ One Up on Wall Street  คือ “Shopping”  Lynch นำแนะว่า เมื่อออก “Shopping”  หรือ ซื้อของประจำวัน หากเจอสินค้าจากบริษัท ที่ทำให้เราและคนอื่นๆ พอใจ มีคุณภาพดี ราคาไม่แพง จงให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะเมื่อบริษัทมีสินค้าที่คนพอใจ มันก็น่าจะเป็นหุ้นที่ลงทุนได้



อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี นับจากหนังสือวางแผงครั้งแรก  Lynch พบว่า การหาหุ้นโดยการ “Shopping” เป็นหนึ่งในสิ่งที่ผู้อ่าน ตีความ มั่วมากที่สุด ผู้อ่านที่ไม่เข้าใจและนำไปใช้ผิดๆ ขาดทุนกันระนาว  จึงเขียนอธิบาย เป็น บทนำเพิ่มเติมในหนังสือเวอร์ชั่นปี 2000 เพื่ออธิบายสิ่งที่ถูกต้องแก่นักลงทุน



Lynch เขียนว่า เขาพบนักลงทุนจำนวนมาก ที่ไปลงทุนหุ้นของบริษัทที่คุณชอบซื้อของ ห้างที่ชอบเดิน หรือร้านอาหารที่ชอบทานประจำ พวกเขา ตีความว่า หากบริษัทมีสินค้าที่เขาชอบ แถมคนรอบข้างชอบด้วย ก็เพียงพอแล้วที่จะเป็นหุ้นที่ ฝากผีฝากไข้ระยะยาวได้



Lynch บอกว่า นี้คือ ความเข้าใจผิด สิ่งที่เขาต้องการสื่อคือ ถ้าคิดลงทุนในบริษัทที่ผลิตสินค้าที่เราชอบ คุณ จำเป็นต้องศึกษา แผนการในอนาคตของหุ้นตัวนั้นด้วย เพราะ สินค้าเป็นเพียง จิ๊กซอว์ตัวหนึ่งเท่านั้น  คุณต้องศึกษารายได้ของบริษัท  สภาพการเงิน ตำแหน่งในการแข่งขัน แผนการขยายงาน และอื่นๆ



การมองเฉพาะว่า คุณและคนอื่นชอบสินค้า แปลว่า บริษัทดี เป็นเรื่อง ด่วนสรุป เพราะสินค้าที่คุณชอบ อาจผลิตจากบริษัทดี แต่พัฒนาให้ดีกว่าเดิมยากแล้ว อาจมีคู่แข่งใหม่เข้ามาง่ายเกินไป เกิดสินค้าใหม่มาทดแทน หรือ กำลังมีปัญหาการเงิน ทั้งหมดสามารถทำให้กำไรลดลง จนราคาหุ้นสาละวันเตี้ยลงเรื่อย  



การซื้อหุ้นดีที่ไม่โตอีกแล้ว หรือ กำลังแย่ลง ในราคาที่จุดสูงพอดี จากนั้นก็ถือยาวไปเรื่อยๆ ในอนาคตจะเกิด "โศกนาฐกรรมลงทุน" เพียงใด คุณคงนึกภาพออกได้



Lynch ยังกล่าวว่า แม้หลักใหญ่ๆของเขาคือ การทำอะไรให้มันง่าย แต่ไม่ได้หมายความว่า คุณจะ มักง่ายเกินไป จนไม่ยอมทำการบ้านอะไรเลย คุณต้องลงมือศึกษา ค้นคว้า เข้าใจในบริษัทที่ลงทุนพอสมควร  การลงทุนไม่ยากเกินไป แต่คุณต้องเข้าใจและเข้าถึงด้วย



สรุป


Peter Lynch ชี้ว่า สาเหตุการขาดทุนจากการใช้วิธีสังเกตุสินค้า คือ ความเข้าใจผิดว่า บริษัทที่คุณชอบสินค้า คือ บริษัทที่ดีในการลงทุนระยะยาว  เนื่องจาก จำเป็นต้องพิจารณา คุณสมบัติอื่นที่ส่งผลต่อ  การเติบโตของบริษัทด้วย  เพราะ สินค้าดีในความเห็นคุณ เพียงข้อเดียว ก็ยังไม่เพียงพอต่อการเป็นหุ้นดีในระยะยาวแต่อย่างใด


ที่มาข้อมูล : หนังสือ The Market Gurus เขียนโดย จอห์น รีส และ ทอดด์ กราสแมน
Read More »
Google