วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2557

หุ้น:3 บทเรียน ที่ทำให้คุณทำเงินจาก Techno Fundamental

ผมเคยลงทุนแบบพื้นฐานร่วมเทคนิคแล้ว "ขาดทุน"  เมื่อมองย้อนกลับไป ผมคิดว่า สาเหตุเกิดจาก "ความไม่เข้าใจ" หลักการบางอย่าง   ผมจึงขอแชร์ "ความผิดพลาด"  ในการใช้ พื้นฐานร่วมเทคนิค”(TF) ของผมเอง เพื่อช่วยให้คนสนใจลงทุนแนวนี้ จะได้ปั้มเงินกันเลยเลย ไม่ผิดพลาดซ้ำรอยเดิมกับผมอีก



1. TF คือ "นักเก็งกำไร" ไม่ใช่ "นักลงทุน"




แม้ TF จะเล่นหุ้นพื้นฐานดี แต่ TF คือ "นักเก็งกำไร"  ไม่ใช่ นักลงทุน  เพราะ TF มี Mindset ที่สวนทางกับนักลงทุนอย่างสิ้นเชิง  จากหนังสือ "ที่ปรึกษาสอนวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุนอย่างนักการเงิน" ของ อ. ชาย กิตติคุณาภรณ์ กล่าวถึงลักษณะของ "นักลงทุนตัวจริง" ว่า


   -   นักลงทุนซื้อหุ้นเมื่อต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง  ของมูลค่า 100 ต้องซื้อให้ได้ 70  เพราะต้องการกำไรทันทีเมื่อซื้อ ไม่ใช่ซื้อแล้วหวังกำไร
   -   สิ่งที่คาดหวังจากซื้อหุ้น คือ กระแสเงินสดจากกิจการ ไม่ใช่ส่วนต่างราคาหุ้น   ไม่ว่าราคาจะหกคะเมตีลังกาหลายตลบแค่ไหน ก็ไม่สน ตราบเท่าที่กิจการยังดี ผลิตเงินสดได้ตามหวัง



แต่ TF ไม่ใช่เลย TF ต้องการ "ส่วนต่างราคา" และซื้อขายหุ้นตามแนวโน้ม แตกต่างกับนักลงทุนราวดำกับขาว



ความชัดเจนตัวตนคือเรื่องสำคัญมาก ปัญหาจะเกิด เมื่อ TF ซื้อผิดพลาด เกิดแนวโน้มขาลง แต่ไม่ยอมขาย หรือ ทำ SAP กลับคิดว่าตัวเองคือ "นักลงทุน"  คือจะ "ถือยาว" แบบถึงไหนถึงกัน






สิ่งที่ตามมาคือ  TF มักทนผ่าน ขาลงไปไม่ได้ และขายขาดทุนตอนราคาลงเยอะแล้ว เพราะ TF หวัง ส่วนต่างราคา เมื่อ "ผิดหวัง" จากการขาดทุนเพิ่มเรี่อย ๆ จะบีบคั้นให้ TF ขายหุ้นในที่สุด และช่วงเวลาที่ผิดหวังและเครียดสูงสุด จนต้องยอม Cutloss ออกมา มักเป็นเวลาใกล้จุดต่ำสุดของรอบพอดี ดังนั้น TF ที่ทนถือหุ้นขาลง เมื่อถึงตอนอวสาน มักจบด้วยการขาดทุนหนัก



ดังนั้น TF ต้องมี “Mindset” แบบ นักเก็งกำไรระยะกลาง คือ เป็นนักเล่นรอบใหญ่ ถ้ามีแนวโน้มขาลง ต้อง เผ่นทันที มาทางไหน ไปทางนั้น จากประสบการณ์ผม การที่แรกเป็นมะลิซ้อน แตกใบอ่อนเป็นมะลิลา คือ ซื้อด้วยเหตุหนึ่ง แต่ขายด้วยอีกเหตุหนึ่ง มักไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ครับ



2. แหกคอกไปเล่นหุ้นนอก Watchlist บ่อยๆ


นักเก็งกำไรที่สำเร็จ ต้องทำ ตามระบบที่เลือกแล้วว่ามีโอกาสทำกำไรสูงกว่าขาดทุน แม้แต่ขนาดนักเก็งกำไรระดับเซียนอย่าง “Mark Douglas” ยังบอกว่า เขามีคำแนะนำข้อเดียวคือ ทำตามระบบเพราะเป็นหนทางสู่การทำกำไรจากตลาดในระยะยาว







ระบบของ TF คือ การใส่เงินในหุ้นพื้นฐานดี กำไรจะโตในอนาคต แต่ในโลกความจริง เราจะได้ยินและเห็น  “หุ้นเด็ดที่ราคาพุ่งกระฉูดในเวลาสั้น หุ้นที่ผู้บริหาร ฉายหนังโฆษณาใหญ่เกินจริง หรือหุ้นที่มี สัญญาณเทคนิคสวยหุ้นเหล่านี้ เป็นหุ้นที่ “Sexy” เสน่ห์ของมัน มักเย้ายวนให้เราออกจากระบบ เพื่อไปยุ่งเกี่ยวกับหุ้นเหล่านี้เสมอ



ส่วนตัวผมเชื่อว่าหุ้นดังกล่าว สามารถทำกำไรแก่นักลงทุนได้ แต่ต้องเป็น ซือแป๋” ในหุ้นประเภทนี้ด้วย หุ้นเหล่านี้เปรียบเหมือนรถ “F1” ที่วิ่งถึงเส้นชัยได้ไว แต่ก็ต้องการคนขับที่เชี่ยวชาญ และเข้าใจรถอย่างลึกซึ้ง เพราะหากพลาด เกิดอุบัติเหตุขึ้นมา คนขับรถย่อมเจ็บหนัก โชคร้ายอาจเสียชีวิต  




หุ้นก็เช่นกัน เมื่อเราฝึกฝน มีระบบการลงทุนแบบหนึ่ง แต่ แหกกฏไปเล่นหุ้นซึ่งบ่อยๆ ย่อมเสี่ยงต่อการบาดเจ็บเนื่องจากขาดความเชี่ยวชาญเล่นหุ้นพวกนี้  อย่าลืมว่า หุ้นที่ขึ้นไว ตอนลงจะไวยิ่งกว่า หากคุณเกิด ซวยซื้อบริเวณสูงสุดพอดี แล้วหุ้นถูกทุบอย่างหนักโดยไม่ทันตั้งตัว ก็จะสร้างความเสียหายรุนแรงมากๆ เปรียบเหมือน สึนามิพัดถล่มพอร์ตของคุณทีเดียว





จงเล่นเกมที่คุณได้เปรียบ และ มีโอกาสชนะมากที่สุดครับ



3. ซื้อขายด้วย “Technical” บ่อยเกินไป



หากใช้ “Technical”  ซื้อ-ขายหุ้น ยิ่งมอง "ช่วงเวลา" (Timeframe) สั้นเท่าไหร่ การซื้อขายจะบ่อยขึ้นเท่านั้น และโอกาส "ผิดพลาด" ก็เพิ่มเป็นเงาตามตัว ที่สำคัญคือ ใช้ประโยชน์จาก "ปัจจัยพื้นฐาน" ได้น้อย



เมื่อเริ่มแรกที่ใช้ "พื้นฐานร่วมเทคนิค"  ผมใช้ Timeframe ที่สั้น คือ 120 นาที และสั้นลงเรื่อยๆ ราวกับกางเกงของใบเตยอาร์สยาม คือ 60 , 30  และ 15  เมื่อเล่นสั้นสักระยะ ผลที่เกิดขึ้นมีดังนี้


     -   ซื้อขายบ่อย ค่าคอมระเบิดเถิดเทิง โอกาสผิดพลาดมาก
     -   พอร์ตไม่ค่อยโต ได้น้อย แต่บางครั้งโดนขาดทุนก้อนใหญ่







เมื่อเวลาผ่านไป ผมจึงสรุปว่า หากรักจะเล่นสั้น สิ่งที่ควรศึกษาจริงๆคือ  Money management และ จิตวิทยาลงทุน มากกว่า เพราะการเล่นสั้นด้วย "Technical" อย่างเดียว เสมือน ล่องเรือโดยไม่มีเข็มทิศ คือ ออกแรงเหนื่อยแต่ค่อยไม่ถึงเป้าหมาย การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน จึงไม่จำเป็นนัก เอาเวลาไปศึกษาสิ่งจำเป็น จะ เกาถูกที่คันมากกว่า



ส่วนตัวผมเห็นว่า การใช้พื้นฐานและเทคนิคร่วมกัน ให้ได้กำไร จะต้องเป็นคนเล่นรอบ คือ เมื่อราคาหุ้นพื้นฐานดีลงมาเยอะ ก็รอดู ถ้าไม่มีจุดต่ำสุดใหม่ (Newlow) ก็พยายามซื้อใกล้ๆ Newlow นั่นแหละ  หากซื้อแล้วราคาไม่ต่ำกว่า Newlow ก็พยายามถือหุ้นสัก 3-6 เดือน  เพื่อให้กำไรที่เติบโตของบจ. "ดึงดูด" นักลงทุนเข้ามาซื้อหุ้น หรือถ้าราคาขึ้นมาจนพอใจแล้ว จะขายก็ได้ ไม่มีข้อบังคับ เพราะกำไรไม่เคยทำร้ายใคร   



อย่างไรก็ตาม หากซื้อแล้ว ราคาลดลงต่ำกว่า Newlow ก็ต้องขายก่อน เพื่อรับที่ต่ำกว่า หรือ SAP ครับ



โดยวิธีการหาจุด Newlow ผมใช้ "หลักการ" ของพี่ณัฐวัฒน์ อ้นรัตน์ ในหนังสือแมงเม่าสำราญ บทที่ 10 เพียงแต่ผมใช้กราฟ Day เพราะไม่อยากซื้อ-ขายบ่อยๆ  ส่วนรายละเอียดอื่นก็เหมือนกัน



สรุป


บทเรียนความผิดพลาดของผม ที่ทำให้การใช้ พื้นฐานและเทคนิคร่วมกันแล้วขาดทุน คือ 1. เข้าใจตัวตนคาดเคลื่อน 2. ไม่ทำตามระบบ 3. ซื้อขายด้วยเทคนิคบ่อยเกินไป โดยไม่มี Money management หากต้องการทำกำไรจากการใช้ พื้นฐานและเทคนิคร่วมกันต้องก้าวข้ามเรื่องดังกล่าวไปให้ได้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Google