วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2558

สอนเล่นหุ้น- บริหารความเสี่ยงอย่างไรในตลาดหุ้นขาลง



มี 2 คำถามน่าสนใจถามผมหลังไมค์

1. เป็นคนเล่นรอบ หุ้นตกเยอะ ช้อนซื้อดีไหม
ตอบ หากครบเงื่อนไข ซื้อเลย ตอนนี้โอกาสดี

2. ไม่กล้าซื้อหุ้น เพราะกลัวหุ้นลงต่อ 
หากซื้อแล้ว SET ไป 1200 1100 900 และ ต่ำลงเรื่อยๆ 
แบบนั้นไม่ขาดทุนกระจายหรือ
ตอบ เพราะอย่างงี้ไง ถึงต้องมีการบริหารความเสี่ยง

-------
ขยายความ
คำถามแรก

ลองนึกภาพ มีทางสามแยก 
ทางซ้ายมีไฟเขียวแดง ทางขวาก็เหมือนกัน 
ทั้ง 2 แยกสามารถนำเราไปสู่จุดหมายได้
ปัจจุบันทางซ้ายเป็นไฟเขียว ทางขวาเป็นไฟแดง
คำถามคือ เราจะเลี้ยวทางไหน เพื่อไปถึงจุดหมายไวที่สุด ??

ในชีวิตจริง เมื่อเราเห็นแยกที่เปิดไฟเขียว 
เราอาจเลี้ยวทางนั้น เพราะคิดว่าจะผ่านแยกได้
แต่เมื่อใกล้แยก ไฟเขียวมักเปลี่ยนเป็นแดง เลยไปต่อไม่ได้
ดังน้นคำตอบที่ถูกคือ ไปทางไฟแดง 
เพราะเมื่อขับถึงแยก ไฟแดงมักเปลี่ยนเป็นเขียว 
เราจึงไปได้เร็วกว่า

การซื้อขายหุ้นก็เช่นกัน หากท่านเล่นรอบ ต้องซื้อตอนหุ้นตก 
เพราะตลาดหุ้นเหมือนไฟเขียวแดง
คือ เปลี่ยนไปมา เป็นวัฏจักร 
ซื้อหุ้นตอนร่วงแรง จะได้ของถูก ซื้อแล้วก็รอ 
เมื่อเวลาผ่านไป ตลาดหุ้นจะเปลี่ยนจากลงเป็นขึ้น 
ราคาหุ้นจะสูงกว่าตอนซื้อ 
เราจึงขายมีกำไร เก็บเงินสดไว้ รอรอบต่อไป

หากเราซื้อตอนราคาหุ้นขึ้นสูง จะมีต้นทุนแพงแถมเสี่ยง
เพราะวันหนึ่ง ราคาหุ้นจะเปลี่ยนจากขึ้นเป็นลง
ยิ่งซื้อตอนหุ้นขึ้นมากๆ ก็เหมือนแยกที่ไฟเขียวมานานแล้ว
โอกาสแดงมากขึ้นเรื่อยๆ
ดังนั้นสำหรับนักเล่นหุ้นประเภทเล่นรอบ
การซื้อหุ้นเมื่อราคาขึ้นสูงแล้ว มักจบด้วยความผิดหวังเป็นส่วนมาก

----------

คำถามสอง
รู้ว่าซื้อตอนตกหนักได้ของถูก 
แต่กลัวว่าราคาหุ้นจะไหลลงยาว จนขาดทุนบักโกรก 
จะแก้ปัญหาอย่างไร ??

ในตลาดหุ้น ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน 
ไม่มีใครคาดการณ์อนาคตได้
หากเราคาดว่าซื้อตอนถูกแล้ว แต่เราอาจถูกหรือผิดก็ได้
คือ ราคาหุ้นอาจกลับตัวเพิ่มขึ้น หรือลดลงได้อีกเพียบ 
ดังนั้น จึงต้องมีการ บริหารความเสี่ยง
ซึ่งหมายถึง การเตรียมแผนเมื่อเหตุการณ์ไม่เป็นตามที่คิด

โดยบทความนี้จะกล่าวถึงการบริหารความเสี่ยงด้วย 
Asset Allocation / Rebalance 
Asset Allocation คือ การแบ่งสัดส่วนระหว่างหุ้นกับเงินสด 
ส่วน Rebalance คือ การปรับพอร์ตให้สัดส่วนคงเดิม 
เมื่อเวลาผ่านไป

ตัวอย่างเช่น คือ สมมุติ คุณมีเงินทุน 1 ล้านบาท
แบ่งสัดส่วนหุ้นกับเงินสด (Asset Allocation) เป็น 50 : 50 
คือซื้อหุ้นมูลค่า 5 แสน ถือเงินสด 5 แสน
เมื่อเวลาผ่านไป 6 เดือน 
ราคาหุ้นลดลง เหลือมูลค่า 4 แสน
ดังนั้นพอร์ตรวมเหลือมูลค่า 9 แสน 
โดยมีสัดส่วนคือ หุ้น 45% และเงินสด 55% 
คุณจึงปรับพอร์ตให้สัดส่วน 50 : 50 เท่าเดิม (Rebalance)
คือ ถือเงินสด 4แสนห้า อีก 5หมื่นมาซื้อหุ้น 
โดย 6 เดือนหน้า ก็ทำกระบวนการแบบนี้อีก

จะเห็นว่า Asset Allocation / Rebalance มีข้อดีคือ
(1) เมื่อแบ่งสัดส่วนหุ้นกับเงินสด 
หากราคาหุ้นตกหนัก ความเสียหายจะเกิดน้อย 
จากตัวอย่าง แม้ราคาหุ้นลดลงถึง 25% 
แต่พอร์ตรวมจะขาดทุนแค่ 10% 
ถ้าซวยหนักลดลง 50% 
พอร์ตรวมจะขาดทุน 25% เท่านั้น 
ซึ่งต่างกับการซื้อเฉลี่ยขาลงจนเงินสดหมดหน้าตัก 
เพราะหากราคาหุ้นไม่ฟื้นอีกเลย ความเสียหายจะถึงเลวร้ายมาก

(2) ในกรณีราคาหุ้นตกต่อเนื่องยาวนาน 
ก็มีเงินสดซื้อหุ้นเพื่อลดต้นทุนเสมอ 
ต้นทุนถูกเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเมื่อราคาเปลี่ยนจากลงเป็นขึ้น 
หากขาดทุนจะคืนทุนไว หากกำไรก็จะกำไรมากขึ้น

(3) หากหุ้นขึ้นก็ทำกำไรได้ 
จากตัวอย่างที่แล้ว ถ้าราคาหุ้นฟื้นตัว 
เพิ่มขึ้นจนมูลค่าหุ้นเท่ากับ 7 แสน 
พอร์ตรวมจะมีค่า 7 แสน(มูลค่าหุ้น) + 4.5แสน (เงินสด) 
มีสัดส่วน หุ้น 61% เงินสด 49%
จึงขายหุ้นทำกำไร 1 แสนห้าหมื่น 
เพื่อปรับสัดส่วนหุ้น : เงินสด เป็น50 : 50 เท่าเดิม 
จะเห็นว่า วิธีนี้ช่วยให้คุณล็อคกำไรได้ด้วย 
เพราะ หากซื้อแล้วถือไว้เฉยๆ 
เมื่อราคาหุ้นลดลงอีกครั้ง ก็พลาดโอกาสทำกำไรเป็นรอบๆ



สรุป
หากเราทำ Asset Allocation / Rebalance ต่อเนื่อง
พอร์ตของเราจะปลอดภัยและมีผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว 
เพราะตลาดขาลงไม่เสียหายมาก 
มีเงินสดช้อนซื้อหุ้นตลอด ขาขึ้นทำกำไรได้ 
ยิ่งหากหุ้นในพอร์ตเป็นหุ้นพื้นฐานดี ปันผลงาม 
ก็เหมือนเรามีฟาร์มห่านทองคำที่ออกไข่เป็นปันผลให้เราเรื่อยๆ เป็นการสร้างกระแสเงินสด (cashflow) อีกทางครับ

ขอให้ทุกท่านโชคดี
------

ขอบพระคุณครับ
ท็อป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Google