วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559

สอนเล่นหุ้นด้วยปัจจัยพื้นฐานผสานเทคนิค - 1 ทำไมต้องใช้กราฟประกอบการลงทุน







ย้อนกลับไปหลายปีก่อน
PTTEPคือหุ้นของบริษัทพลังงานที่มีความสามารถทำกำไรสูงมาก
สินค้าของบริษัทคือน้ำมันดิบและก๊าซเป็นสิ่งจำเป็นของสังคมไทย
ความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คู่แข่งก็น้อย
ปีๆหนึ่ง PTTEPจึงมีกำไรเกือบ5หมื่นล้านบาท
ติด 1ใน5 ของบริษัทที่กำไรสูงสุดในไทย
ด้วยความที่สินค้าเปรียบเหมือนอากาศซึ่งคนขาดไม่ได้
PTTEPจึงได้รับความเชื่อมั่นอย่างสูงจากนักลงทุนว่า
เป็นบริษัทที่มีกำไรมั่งคงเหมือนเสาหิน ไม่ผันผวนง่ายๆ

ปลายปี 2557 ราคาน้ำมันตกต่ำ 
ลดลงจาก 100$/Barrel มาอยู่ที่ 70$
ส่งผลให้ราคาหุ้นPTTEPร่วงตาม
ช่วงนั้นผมได้ยินนักลงทุนหลายท่านพูดว่า
นี้เป็นโอกาสทองฟังเพชร ในการซื้อหุ้นPTTEP
เพราะถ้าราคาน้ำมันต่ำมากๆ 
ผู้ผลิตทั่วโลกก็จะลดการผลิต
เมื่อชัพพลายน้อยลง ราคาน้ำมันจะพลิกกลับสูงขึ้น
ราคาหุ้นPTTEPย่อมฟื้นคืนเป็นเงาตามตัว
ซื้อหุ้นตอนนี้ อนาคตคงขายได้กำไรงาม
ทำให้ตอนนั้น คนจึงแห่ช้อนซื้อหุ้น PTTEPอย่างคึกคัก

แต่เหตุการณ์ไม่เป็นดังคาด
ราคาหุ้นPTTEPตกต่อเนื่อง ดิ่งลงเหมือนรถตกเขา
จากปี 2557 ราคาหุ้นPTTEPประมาณ 170บาท
ต้นปี2559 เหลือแค่ 42 บาท ลดลง 76% 
ส่งผลให้นักลงทุนที่ช้อนซื้อ ช้อนหักไปตามๆกัน

สาเหตุที่ราคาหุ้น PTTEPลดหนัก มาเฉลยในปี 2559 นี่เองว่า
อุตสาหกรรมน้ำมันเปลี่ยนแปลงแล้วอย่างสิ้นเชิง 
เพราะการเฟื่องฟูของShale Oil 
ที่ทำให้ซัพพลายน้ำมันโลกเพิ่มขึ้นมากแบบถาวร 
ฐานราคาน้ำมันจึงต่ำลง
รายได้ของPTTEPจึงตกและยากจะกลับไปสูงเหมือนอดีตอีกครั้ง

ประเด็นคือ กว่าจะรู้ชัดเจนว่าพื้นฐานบริษัทเปลี่ยนแปลง 
ราคาหุ้นก็ถึงจุดต่ำสุดเสียแล้ว





เหตุการณ์ข้างต้น คือความเสี่ยงของการลงทุนแบบหนึ่ง
ยิ่งเกิดกับบริษัทที่ใหญ่และมั่นคง ยิ่งอันตราย
เพราะความเชื่อมั่นมักทำให้เกิดภาพลวงตาว่า 
บริษัทยังดีอยู่  ทั้งที่ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทอาจไม่เหมือนเดิมแล้ว


คำถามคือ จะป้องกันตัวความเสี่ยงดังกล่าวได้อย่างไร

คำตอบส่วนตัวผมคือ ใช้กราฟราคาเป็นตัวช่วย
เพราะราคาหุ้นสะท้อนทุกสิ่ง
หากบริษัทเกิดปัญหาซึ่งทำให้ปัจจัยพื้นฐานแย่ลง
ราคาหุ้นจะดิ่งเหว เกิดเป็นแนวโน้มขาลง (Downtrend)
และหากสถานการณ์ของบริษัทฯยังไม่ดีขึ้น 
หรือว่ามีปัจจัยลบอื่นรออยู่ในอนาคต ราคาหุ้นจะตกต่อ 
ตกเรื่อยไปจนกว่าบริษัทฯจะแก้ไขสถานการณ์ได้ 
เมื่อนั้นราคาหุ้นจึงเริ่มหยุดตก หรือพลิกเพิ่มขึ้น



insider คือธรรมชาติของตลาดทุน


ทำไมราคาหุ้นจึงสะท้อนทุกสิ่ง
เพราะมันเสมือนเป็นนักข่าวที่รายงานว่า
เจ้าของบริษัท รายใหญ่ และตลาด รู้สึกหรือทำอะไรกับหุ้นตัวนี้
ลองจินตนาการว่า เมื่อบริษัทฯเริ่มประสบปัญหา 
คนแรกที่รู้คือเจ้าของบริษัท
ต่อมาคือรายใหญ่ซึ่งเข้าถึงข้อมูลก่อนใคร
พวกเขาจึงขายหุ้น
เมื่อแรงขายมากกว่าแรงซื้อ 
จึงสะท้อนออกมาที่ราคาหุ้นลดลง 
และหากกลุ่มคนข้างต้นเห็นว่า 
สถานการณ์ของบริษัทเหมือนคนป่วยที่ยังไม่ฟื้น
จึงไม่ซื้อหุ้นเพราะไม่มั่นใจ ราคาหุ้นจึงตกต่อ 
ตกไปเรื่อยๆจนถึงจุดที่ปัญหาของบริษัทได้รับการแก้ไข 
สถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆจากจุดที่เป็น 
ซึ่งผู้ที่รู้ว่าคนป่วยหายแล้วเป็นกลุ่มแรก
ก็คือกลุ่มคนที่ขายก่อนใครนั่นแหละ 
พวกเขาจึงช้อนซื้อหุ้น เมื่อแรงซื้อมากกว่าแรงขาย
ราคาหุ้นจึงไม่ลด และพลิกเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

สรุปคือกราฟราคาหุ้นช่วยให้เรารู้สถานการณ์แท้จริงของบริษัท 
เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการซื้อผิดจังหวะครับ


2หัวดีกว่าหัวเดียวจริงหรือ ??


มีคนถามผมบ่อยว่า 
การใช้พื้นฐานผสานเทคนิค 
เมื่อเปรียบกับใช้พื้นฐานและเทคนิคเพียงอย่างเดียว 
มีข้อดีข้อเสียอย่างไร

คำตอบส่วนตัวผมคือ หากเป้าหมายคือส่วนต่างราคาหุ้น
การใช้2อย่างร่วมกัน สร้างกำไรไม่ต่างกับใช้อย่างเดียว
แต่เสียเวลามากกว่า 
เพราะต้องวิเคราะห์ทั้งพื้นฐานและเทคนิคร่วมกัน
อุปมาเหมือนคน2คนทำงานลักษณะเดียวกัน
คนหนึ่งทำ 4ชั่วโมงต่อวัน อีกคนทำ8ชั่วโมง
แต่ค่าแรง 300 เท่ากัน ได้เงินเท่ากันแต่กินแรงแตกต่าง

**อย่างไรก็ตาม หากคุณใช้พื้นฐานผสานเทคนิคแล้วก็กำไร
ก็ใช้ต่อไปเถอะครับ เพราะแนวทางการลงทุนใดที่คุณกำไรและพอใจ ก็ดีทั้งนั้น**

คำถามต่อมาคือ แล้วผมใช้พื้นฐานผสานเทคนิคเพื่ออะไร ??
คำตอบคือ การใช้2อย่างร่วม 
คือเครื่องมืออันทรงพลัง 
สำหรับการเล่นหุ้นที่มีเป้าหมายเพื่อ "สร้างกระแสเงินสด" (Cashflow)
เพราะทำให้เรามีเงินสดมากขึ้นโดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม 
และป้องกันความเสี่ยงจากการที่หุ้นตัวนั้น 
ไม่ใช่เครื่องจัการสร้างกระแสเงินสดที่ดีอีกต่อไป
ซึ่งรายละเอียดของการเล่นหุ้นเพื่อสร้างกระแสเงินสด 
จะเขียนต่อในตอนที่2นะครับ


สรุป การใช้กราฟราคาช่วยในการลงทุน
มีข้อดีคือ ป้องกันความเสี่ยงจากการซื้อหุ้นผิดจังหวะ
เป็นวิธีที่เหมาะกับการเล่นหุ้นที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างกระแสเงินสด
เพราะทำให้เรามีเงินสดมากขึ้นโดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มครับ

สนับสนุนความรู้ - เรียน Adwords เชิงกลยุทธ์ By Search Monopoly SearchMonopoly

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Google