วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2555

Five Force Model ของ ไมเคิล อี พอร์เตอร์ กับการลงทุนหุ้น(ตอนแรก) : ตัวอย่างการวิเคราะห์


  




 1.        ภัยคุกคามจากสินค้าทดแทน

อุตฯโทรคมนาคม มีภัยคุกคามจากสินค้าทดแทนที่  "สูง"  
 เพราะเทคโนโลยีเคลื่อนไหว  ว่องไวปานรถซิ่งจากนรก

     
     ปี  2001  ญี่ปุ่นเปิดบริการ  3G  ที่แรกในโลก และแพร่ไปทุกทวีปเร็วราวกับไฟลามทุ่ง  (แต่ไม่ยักลามมาประเทศไทย ^__^

     เดี๋ยวเดียว 11 ปีผ่านไป  หลายประเทศสะบัดตูดจาก 3G อย่างไม่เหลือเยื่อใย  แล้วหันไปเสพเอ๊าะๆ ใสๆ อย่าง 4G กันแล้ว 

     แสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีของอุตฯโทรคม มันเปลี่ยนกันบ่อย อย่างกับ เปลี่ยนผ้ากันเปื้อนในร้านอาหาร  

     ส่วนประเทศไทย ลูกค้าอยากใช้ 3G จริงมากๆ  เห็นได้จากมูลค่าบริการ  Non voice (อินเตอร์เน็ตบนมือถือ) เพิ่มสูงขึ้นกว่า 20% แบบปีต่อปี

    คาดว่าหลังจาก กสทช ทำคลอด 3G สำเร็จ  ผู้ประกอบการต้องรีบเร่ง  แข่งขันกันเปลี่ยนระบบจาก 2G มาเป็น 3G  แบบไม่คิดชีวิต  

    เพราะจากประวัติศาสตร์ อุตสาหกรรมนี้ไม่อนุญาตให้ "วัตถุโบราณ" ดำรงเผ่าพันธ์ในตลาดได้ต่อไป

    อุตฯโทรคมนาคมจึงมี  ภัยคุกคามจากสินค้าทดแทนที่สูงครับ




 
2.     ภัยคุกคามจากผู้บริโภค

อุตฯโทรคมนาคม มีภัยคุกคามจากผู้บริโภค  “ต่ำ 
เพราะรายได้ไม่กระจุกที่รายใดอย่างมีนัยยะสำคัญ


    ภัยคุกคามจากผู้บริโภค หมายถึงผู้บริโภคมีอำนาจต่อรองกับผู้ประกอบการแค่ไหน หรือ มีกฏหมายคุ้มครองเข้มงวดหรือไม่ 

     ในอุตฯโทรคมไทย ผู้บริโภคมีอำนาจต่อรองต่ำ เพราะเงินจากผู้บริโภคแต่ละราย เป็น % น้อยนิดกระจิ๋วหลิว เมื่อเทียบกับรายได้ทั้งหมดของผู้ประกอบการ

     เมื่อเกิดปัญหากับผู้บริโภคจนเกิดการร้องเรียนหรือย้ายค่าย   ผู้ประกอบการจึงเอาหูทวนลมเสียเป็นส่วนมาก    ตราบเท่าที่ปัญหานั้นไม่กระทบกับรายได้อย่างมีนัยสำคัญ

    อีกทั้ง กสทช ที่มีหน้าที่ ออกกฎหมายควบคุมผู้ประกอบการ  เอาเข้าจริง ก็ " บ่มีไก๊ " เท่าไหร่

    เห็นได้จากกรณี  "ชั่วโมงหมด มึงอดใช้" ที่ผู้บริโภคต้องเสียเงินมากกว่าที่ควร หรือ บางผู้ประกอบการ เครือข่ายล่มปากอ่าวซ้ำซาก จนผู้บริโภคเสียสิทธิในการใช้งานอยู่บ่อยๆ

   กสทช ก็ไม่สามารถบังคับให้ผู้ประกอบการ แก้ไขหรือชดใช้สมน้ำสมเนื้อแก่ผู้บริโภคแต่อย่างใด 

   ผู้บริโภคมีอำนาจต่อรองต่ำ แถม ผู้ประกอบการ "ดื้อยา" แบบนี้ อุตฯโทรคมนาคมจึงมี ภัยคุกคาม จากผู้บริโภคที่ ต่ำ ครับ






3. ภัยคุกคามจากคู่แข่งในอุตฯเดียวกัน

อุตโทรคมฯ มีภัยคุกคามจากคู่แข่งในอุตฯเดียวกัน " สูง " 
เพราะต้องแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดกันตลอดเวลา


    รายได้หลักของผู้ประกอบการโทรคม จะเป็นตามสมการดังนี้ครับ
 

รายได้หลัก = รายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อเลขหมาย (ARPU) x จำนวนผู้ใช้บริการที่จ่ายเงิน
  

    ในประเทศไทย  เทคโนโลยีและสินค้าของผู้ประกอบการ  สามารถ " เลียนแบบ "   กันได้เพราะไม่มีใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์  


    สินค้าที่เลียนแบบง่าย และไม่มีความต่างแบบนี้  การเพิ่มรายได้หลักโดยเพิ่มค่าบริการ (ค่าบริการสูง = ARPUสูง)  ก็เหมือนการ "ถีบตัวเองลงหลุมศพ" 

    เพราะลูกค้าจะหนีไปใช้บริการคู่แข่ง ที่มีราคาต่ำกว่าอย่างรวดเร็ว 

    เมื่อเพิ่ม ARPU ไม่ได้  ผู้ประกอบการจึงมักใช้กลยุทธ์เพิ่มจำนวนผู้ใช้  ด้วยการ "แย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด" จากคู่แข่ง

     ข้อสำคัญ อุตฯโทรคมเอง มี switchcost ต่ำ ยิ่งเย้ายวนให้เกิดการกระชากลูกค้าจากอ้อมอกของคู่แข่ง  

     เพราะทำแล้วก็มีโอกาสสำเร็จสูง หากผู้ประกอบการใช้กลยุทธทางตลาดที่ดีพอ

     จากเหตุและปัจจัยดังกล่าวข้างต้น  อุตโทรคมฯ จึงมีภัยคุกคามจากคู่แข่งในอุตฯเดียวกันที่สูงครับ








4. ภัยคุกคามจาก Supplier 

อุตโทรคมฯ มีภัยคุกคามจาก Supplier  " ต่ำ " 
เพราะผู้ประกอบการซื้อของจาก  Supplier จำนวนมาก จึงมีอำนาจต่อรองสูง

     
     วัตถุดิบที่ผู้ประกอบการ ต้องหาจาก Supplier มี 2 อย่างดังนี้ครับ

     1. อุปกรณ์โครงข่ายเพื่อให้บริการ  2. คลื่นความถี่

     ข้อ 1 อุปกรณ์โครงข่าย  เวลาผู้ประกอบการซื้อที ต้องใช้คำว่า " จัดหนัก " ครับ

     เพราะแต่ละรายไม่ใช่องค์กรระดับ "อบต" ซื้อแค่ 20-30 ตัว ใช้กันเองในท้องถิ่น

     แต่ติดตั้งกัน"ทั่วประเทศ"  volume  สั่งซื้อจึงเพียบบบบ

     ข้อสำคัญ  Supplier ที่ขายอุปกรณ์โทรคม ก็มีเยอะพอๆกับ " แม่ค้าในตลาดสด " 

     สั่งซื้อเยอะๆๆ แถมมีตัวเลือกมาก อำนาจต่อรองกับ Supplier เลยสูงปรี๊ดดด....


     ข้อ 2  คลื่นความถี่  อันนี้ต้อง "ประมูล" จาก กสทช มา

     คลื่นความถี่นี้  "นักเก็งกำไรฯ"  ขอ "ฟันธง" ว่า อุดมสมบูรณ์และไม่ขาดแคลน อย่างแน่นอน
     
     เพราะคลื่นความถี่  ไม่เสื่อมสภาพ ใช้แล้วไม่หมดไป ไม่เหมือนทรัพยากรสิ้นเปลือง เช่น น้ำมัน ถ่านหิน หรือ แร่อื่นๆ

     อีกทั้ง ผู้ดูแลคลื่นความถี่อย่าง กสทช  ก็เป็น "พี่ใหญใจดี " ต่อผู้ประกอบการมาตลอด

     เห็นได้จาก การตั้งเงื่อนไขให้น้องๆกระเป๋าหนัก ไม่ต้องประมูลราคาแข่งกันเอง

     แถมยังลดราคาต่ำกว่าการประเมินบานตะเกียงแถมเบิ้ลให้ไปอีก

     มีพี่ใหญ่คอยเสิร์ฟ "คลื่นความถี่" แถมซื้อของ Volume เยอะๆอีก อุตโทรคมฯไทย จึงมีภัยคุกคามจาก Supplier ที่ต่ำครับ



5. ภัยคุกคามจากคู่แข่งรายใหม่

อุตโทรคมฯ มีภัยคุกคามจากคู่แข่งรายใหม่  " ต่ำ " 
เพราะใช้เงินลงทุนสูงมาก และต้องแข่งขันอย่างรุนแรง


  
     บริษัทฯไหน อยาก "แบ่งเค้ก" ในอุตโทรคมฯไทย ต้องใช้คำว่า เจ้าบุญทุ่ม ครับ

     เพราะต้องลงทุนมหาศาล ติดตั้งระบบทั่วประเทศเพื่อทัดเทียมกับคู่แข่ง

     "นักเก็งกำไรฯ" เคยคิดเล่นๆว่า ถ้าติดตั้งระบบทั่วประเทศ ต้องใช้เงินลงทุนเท่าไหร่

     สอบถามจากผู้รู้มาว่า เงินลงทุนเสาโทรคมเพียวๆ 1 ต้น ปาเข้าไป 2ล้านบาท+

     งบนี้ยังไม่รวมค่าอุปกรณ์ ค่าน้ำค่าไฟ และอีกเยอะแยะหยุมหยิม

     อีกทั้ง เสาโทรคมต้นเดียว ก็ครอบคลุมพื้นที่แค่ 20 - 30 กิโล

     หรือกินพื้นที่แค่จากอนุสาวรีย์ชัยไปถึงสวนจตุจักร

     แล้วต้องปักเสาเท่าไหร่ ถึงครอบคลุมพื้นที่  513,115  ตารางกิโลเมตร ของประเทศไทย ???

     แถมกว่าจะให้บริการแก่ลูกค้าได้ ต้องลงทุนค่าสำนักงาน เงินเดือนพนักงาน ค่าการตลาด และอื่นๆอีกเพียบบบบ

     
      โอ้วแม่เจ้าาา !!!  คิดเล่นๆก็งบประมาณมหาศาลสุดจะบรรยายแล้ว  


      แต่สมมุติถ้ามีบริษัทเงินใหญ่ใจนักเลง ลงทุนจนเปิดบริการได้จริงๆ 

      ก็ต้องมาสู้รบฟาดฟันกับ "3 มาเฟียใหญ่" เจ้าตลาดเดิมอีก

      ซึ่งแต่ละราย ทรัพยากร กลยุทธ์ และกำลังภายใน  ก็ระดับ "ซือแป๋เรียกพี่" ทั้งนั้น

      เรื่องปล่อยให้หน้าใหม่ แย่งลูกค้าได้แบบสบายๆ เบิร์ดๆ  คงเป็นแค่ ฝันกลางวัน

      จากข้อมูลทั้งหมด หากคิด "แจ้งเกิด"  ในอุตฯนี้ จึงยากพอๆกับ " อุ้มช้างอาบน้ำ 20 ตัว "

     เข้ายากและแข่งขันสูงแบบนี้  อุตโทรคมฯจึงมีแรงดึงจากคู่แข่งรายใหม่ที่ "ต่ำ" ครับ 



สรุป Five Force Model  ของ ไมเคิล อี พอร์เตอร์ ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย

    ในความเห็นของ "นักเก็งกำไรฯ" ก็มีรายละเอียดดังนี้ 





  
    เดี๋ยวสัปดาห์หน้าต่อกันเรื่อง การนำแรงดึงทั้งห้ามาปรับใช้กับการลงทุนครับ ^__^


    ขอบคุณครับ

    นักเก็งกำไรด้วยปัจจัยพื้นฐาน

     http://thai-hybridinvestors.blogspot.com/  หรือ เข้า google ค้นหา "นักเก็งกำไรด้วยปัจจัยพื้นฐาน"   

สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน 3.0 ประเทศไทย.
อยู่บนพื้นฐานของงานที่ http://thai-hybridinvestors.blogspot.com/.
Read More »

วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

รายละเอียดกิจกรรม "ฉลองครบ 5000 like กับนักเก็งกำไรด้วยปัจจัยพื้นฐาน"


เชิญร่วมกิจกรรม " ฉลองครบ 5000 like กับนักเก็งกำไรด้วยปัจจัยพื้นฐาน "


ลุ้นรับของรางวัล  เพียงตอบคำถามบนพจ
ประกาศผลทางpage   ของรางวัลส่งให้ถึงบ้าน 


ของรางวัล มี 2 อย่าง ดังนี้

     1. ชุดหนังสือ VI : 1 ชุด ประกอบด้วย 2 เล่ม ดังนี้
            รวยหุ้นแบบ VI ไม่เสี่ยง
            Warrent Buffett กับ งบการเงิน

         คุณค่า :  แน่นด้วยเนื้อหา ครบทั้งวิเคราะห์อุตสาหกรรม และ ความหมายงบการเงิน

        


     2.  เหรียญเม็ดแตง หลวงตามหาบัว รุ่นอริยทรัพย์

         คุณค่า :  เหรียญนี้  ราคาทางโลกไม่มาก  แต่มูลค่่าทางจิตใจสูงลิบ  เพราะเจริญพุทธมนต์โดย 2 พระแท้แห่งยุค
         หลวงตามหาบัว เป็น"พระดี" และ "พระแท้" ขนาดไหน คงไม่ต้องบรรยาย
         และจัดสร้างโดย หลวงปู่ลี_กุสลธโร "พระแท้อีกองค์" เพื่อหาทุนซื้อทองถวายหลวงตา

        

เงื่อนไขการร่วมสนุก

     1. ตอบแบบสำรวจ "คุณต้องการให้ page นักเก็งกำไรด้วยปัจจัยพื้นฐาน นำข้อมูลใดมานำเสนอ"

     2. ใส่อีเมล์ในช่อง แสดงความคิดเห็น เพื่อติดต่อกลับ ในกรณีได้รับรางวัล




เกณฑ์การพิจารณาผู้ชนะและรับของรางวัล

    1. จับฉลากจาก รายชื่อ *ทั้งหมด* ทีร่วมแสดงความคิดเห็น

    2. ผู้ได้รับของขวัญมี 2 ท่านคือ ผู้ชนะเลิศอันดับ1 และ อันดับ2

    3. ผู้ชนะเลิศอันดับ1 จะได้สิทธิเลือกของรางวัลก่อน  หนังสือหรือพระเครื่อง อะไรก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่ง


กำหนดการร่วมสนุก

     หมดเขตร่วมสนุก วันที่ 20 เมษายน 2556

ประกาศผล

     วันที่ 27 เมษายน  2556


ขอบพระคุณล่วงหน้าที่เข้าร่วมกิจกรรมกับกระผมนะครับ ^__^

Read More »

วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

นักลงทุนปัจจัยพื้นฐานได้อะไรจากหุ้นตก



  
      

     ช่วงนี้หุ้นแดงกันยกแผง   SETตกไปหลายจุด ก็ได้เวลา " ลงสนามจริง " ของนักลงทุนด้วยปัจจัยพื้นฐาน (VI) กันแล้ว

     การ ลงสนามจริง แต่ละครั้ง ทุกคนก็หวังว่า หุ้นทิ้งดิ่งที่ซื้อมา ราคาจะพลิกกลับมาได้ในอนาคต


      แต่การลงทุนมีความเสี่ยง โลกความจริงก็จะมี VI บางคน คิดว่าได้  "พลอยแดงราคาถูก" แต่เอาเข้าจริง กลายเป็น "รับมีดคมกริบ" เข้าเต็มดอก (ผมเองก็รับมาบ่อย ^__^)


      เล่นเอาเลือดกระฉูด จนเกิดอาการ หลอนจิต คิดเยอะ จนหมดความมั่นใจไปเลยก็มี


      อย่างไรก็ตาม ความเห็นส่วนตัวผม ไม่ว่าจะได้ พลอยแดง หรือ มีดคมกริบ ก็ไม่ควร "ถือเป็นจริงจัง" จนกลัว "ลงสนามจริง" มากเกินไป


      เพราะสิ่งสำคัญจริงๆ อยู่ที่ "ประสบการณ์" ที่ได้จากลงสนามมากกว่า


      พึงระลึกว่า โลกการลงทุน สิงห์พอร์ตจำลองหรือมัววิจารณ์อยู่วงนอก จะมีโอกาสสำเร็จน้อยมากๆ


      เพราะมีแต่ "สนามจริง" เท่านั้น ที่จะขัดเกลา และ หล่อหลอม ให้นักลงทุนสามารถนำทฤษฎีดีๆทั้งหลายบนกระดาษ มาปฎิบัติใช้ลงทุนจริงๆได้


      อุปมาดังการตีดาบ เหล็กที่ผ่าน "ความร้อน" และ "การทุบตี" มากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งเข้ารูป เพื่อกลายเป็นดาบชั้นดีมากขึ้น ฉันใดฉันนั้น


     สรุปก็คือ "ประสบการณ์จริง" มีค่ายิ่งสำหรับนักลงทุนทุกประเภท หากเรากล้าลงทุนสวนตลาด  และมีแผนรองรับหากหุ้นตัวนั้นไม่เป็นตามคาดหวัง เราก็มีโอกาสเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ และ หลุดพ้นจากคำว่า " นักเลงหุ้นคียบอร์ด" เสียที


ขอบคุณครับ ^__^


นักเก็งกำไรด้วยปัจจัยพื้นฐาน


Read More »

วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

Value vs Technical

  แบบไหนดี
  
ฉันเป็นเด็กหญิงเยาว์วัย  สดใส และช่างฝัน

เพื่อนฉันคือ  ตุ๊กตาหมี มันตัวอ้วนแถมคุยเก่ง

วันหนึ่งฉันถาม โตขึ้นเป็นอะไรดี

หมีตอบ  นักลงทุนสิ....อนาคตสดใส








ฉันสงสัย เดินถามพ่อ

 พ่อจ๋า.....นักลงทุนประเภทไหนดี

พ่อยิ้ม " VI "  สิลูกกก  

มั่นคง ความเสี่ยงต่ำ

ฉันดีใจ กลับมาหาข้อมูล

เศรษฐกิจ งบการเงิน มูลค่าหุ้น 

เสร็จส่งให้พ่อดู

พ่ออ่านเสร็จ   ยิ้มมมมมม




พี่สาวดึงไปอ่าน ทำหน้าาา  บึ๋ยยยยยย!!!

"ช้าทำไม ต้องเก็งกำไร ด้วย Technical"

ฉันแอบงอล มาทำใหม่

เทรนไลน์ MACD RSI

OBV Volume จุดซื้อ จุดขาย

เสร็จส่งให้พี่ดู
 
พี่ฉันอ่าน  ตบมือชอบใจ  ยิ้มมมมม




เด็กข้างบ้านผ่านมา  ตะโกน  เสี่ยงเกินไป

"Hybrid"  รู้จักไหม ต้องผสมผสาน







ฉันกลุ้มใจ ผู้ใหญ่VI  วัยรุ่นชอบซิ่ง  เด็กรัก Hybrid

ทุกคนว่า แบบนี้ดี แตกต่างกันไป

เลยหัน  ถาม  ตุ๊กตาหมี

เป็นนักลงทุนแบบไหนดี




หมียิ้ม ตอบทันที


เป็นนักลงทุนแบบ......เธอเอง
                สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน 3.0 ประเทศไทย.
อยู่บนพื้นฐานของงานที่ http://thai-hybridinvestors.blogspot.com/.
Read More »

วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สอนเล่นหุ้น - วิธีวิเคราะห์หุ้น " พื้นฐานดี " อย่างง่ายๆ



     




     การคัดเลือก  “หุ้นปัจจัยพื้นฐานดี”  สำหรับผู้มีประสบการณ์หลายๆปี   คงไม่ใช่เรื่องยาก   แต่สำหรับผู้เริ่มลงทุนไม่นาน  การคัดเลือก  หุ้นปัจจัยพื้นฐานดี  จากหุ้น 400 – 500 ตัว เป็นเรื่องชวนท้ออยู่ไม่น้อย   กระผมจึงขอนำเสนอวิธี  กรีนหุ้นพื้นฐานดี ด้วยวิธี เรียงลำดับความสำคัญ  ที่จะช่วยประหยัดเวลา "กรองหุ้น"  ให้เหลือเข้าข่ายที่เราจะเจาะลึกน้อยที่สุด  โดยไม่ต้องใช้เวลามากจนเกินไป โดยมีวิธีการดังนี้ครับ

     
    ทบทวนวิธีดู "ปัจจัยพื้นฐานที่ดี" 

    จากบทความ อยากรวยต้องรู้ : วิธีดู ปัจจัยพื้นฐานที่ดีตอน 1-3  บริษัทที่ ปัจจัยพื้นฐานดีต้องมี 8 ข้อดังข้างล่างนี้








    ขั้นที่1  ลำดับความสำคัญ ตามแนวทางการลงทุนของคุณ

   จากหัวข้อ 1-8 นักลงทุนต้อง จัดลำดับ  หัวข้อใหม่   โดยพิจารณาจาก  สิ่งที่สอดคล้องกับแนวทางการลงทุนของคุณมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด   ซึ่งการจัดลำดับหัวข้อนี้ ขึ้นกับแนวทางของแต่ละคน  ผลออกมาก็จะไม่เหมือนกัน 
   
    ตัวอย่างเช่น บางคนเน้นลงทุนหุ้นปันผล ข้อสำคัญที่สุด คือ จะมีเงินจ่ายปันผล  คิดเป็น % มากกว่าฝากธนาคารหรือไม่   แต่ถ้าชอบหุ้นประเภทเจ้าครองตลาด  ก็ต้องดูว่า มี Barrier of entry ที่แข็งแรงหรือเปล่า แบบนี้เป็นต้น

    
    ขั้นที่2 พักพิจารณาหัวข้อแรก แล้วพิจารณาหัวข้อถัดมาก่อ

    เมื่อเริ่มพิจารณาบริษัทฯ   วิธีการคือ  ข้ามข้อแรกไปแล้วเริ่มหัวข้อถัดไปเลย   เพราะหัวข้อแรก จะต้องเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด    จึงใช้เวลาพิจารณามากที่สุด และเสียเวลามากที่สุดเช่นกัน  การพักพิจารณาข้อแรกไว้ก่อน  จึงประหยัดเวลาการ กรองหุ้น  แต่ไม่หลุดจากหัวข้อสำคัญฯรองลงมามากเกินไ อันเป็นการป้องกันการหลุดมาของบริัทที่ปัจจัยพื้นฐานไม่ค่อยดีครับ

    
    แล้วจะพิจารณาแล้วข้อถัดไปกี่ข้อดีล่ะ  ?? 


    ในความเห็นของผมก็คือ กี่ข้อก็ได้  แต่ต้องไม่ทั้งหมด เพราะ หากพิจารณา 7 ข้อที่เหลือ  ก็จะไม่ตอบโจทย์เรื่อง ประหยัดเวลา กรองหุ้นอยู่ดี    กำลังดีก็ 3 ข้อ  (มาตรฐานของผมเอง ^__^)  แต่จะมากหรือน้อยกว่านี้แล้วแต่สะดวก  โดยหุ้นที่จะผ่านตะแกรงกรองหุ้น  ต้องผ่านหัวข้อทั้งหมดที่เราเลือกมา  ถ้าไม่ผ่านก็ทิ้งไปก่อน  เพื่อจะเหลือหุ้นน้อยที่สุดที่จะมาเจาะลึกกันอีกทีครับ









ตัวอย่างการใช้งานจริง

วัตถุประสงค์   กรองหุ้น A - L  เพื่อเหลือหุ้นให้เจาะลึกน้อยที่สุด


ขั้นตอนที่ 1   จัดลำดับความสำคัญ  สำหรับตัวผมเองที่ลงทุนหุ้นเติบโตเป็นหลัก ผลการจัดลำดับจะออกมาแบบนี้




ขั้นตอนที่ 2   พักพิจารณาหัวข้อแรก แล้วพิจารณาหัวข้อถัดมาก่อ : เราก็เริ่มพิจารณาบริษัท A ไปถึง L ทีละบริษัทฯ ผ่านไม่ผ่านข้อไหนก็บันทึกเอาไว้ สมมุติว่าผลดังนี้



จากตัวอย่างข้างบน  บริษัทที่ผ่านการกรองหุ้น ก็คือ C และ F  ซึ่งจะนำไปเจาะลึกกันต่อไป


    โดยสรุปก็คือ สำหรับนักลงทุนที่เลือกหุ้น ด้วยปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก  การหาวิธีที่มีประสิทธิภาพ ในการคัดกรองหุ้นชั้นแรก จะช่วยประหยัดเวลาและลดงานการลงทุนไปได้มาก  ส่วนตัวผมเองใช้วิธีการข้างต้นมาตลอด หากนักลงทุนท่านใดเห็นว่ามีประโยชน์ก็นำไปทดลองใช้ได้ครับ

ขอบคุณครับ

นักเก็งกำไรด้วยปัจจัยพื้นฐาน

https://www.facebook.com/stockforlife

 

Read More »
Google