วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2557

หนังสือหุ้นบทที่ 5:วิธีหาเงินมาลงทุนสำหรับผู้เริ่มต้น





ปัญหาอย่างหนึ่งของผู้เริ่มลงทุนคือ ไม่มีเงินมาลงทุน
ถึงรู้ทฤษฎี แต่ถ้าไม่มีเงิน ก็ไม่สามารถสร้างอะไรเป็นรูปธรรมได้


คำถามคือ ทำไมไม่มีเงินเหลือมาลงทุน
คำตอบคือรายจ่ายประจำ ดูดเงินเราจนหมดเกลี้ยง
แม้ประหยัดสุดฤทธิ์ จนพอมีเงินออม
แต่ชีวิตมักมีเหตุการณ์ซึ่งควบคุมไม่ได้
เกิดรายจ่ายพิเศษบ่อยๆ เช่น ครอบครัวป่วย อุบัติเหตุ รถเสีย บ้านทรุดโทรม ฯลฯ
เงินจึงไม่พอใช้ ต้องเบิกเงินออมมาหมุนก่อน
เป็นแบบนี้เดือนแล้วเดือนเล่า จึงไม่มีเงินมาลงทุนเสียที


แล้วเราจะแก้ปัญหาเพื่อปกป้องเงินลงทุนอย่างไร
วิธีการคือ มีเงินฉุกเฉินก้อนหนึ่ง
เมื่อออม10 % หากเงินไม่พอใช้ ให้นำเงินก้อนนี้ไปใช้ก่อน
เมื่อขึ้นเดือนใหม่ ก็เก็บ 10% ต่อไป แล้วเติมเงินฉุกเฉินให้เต็ม
พอเงินไม่พออีก ก็เอาเงินฉุกเฉินไปใช้
ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จะปกป้องเงินลงทุนไว้ได้




ขั้นตอนใช้เงินฉุกเฉินระหว่างเดือน


แล้วเงินฉุกเฉินควรเป็นเท่าไหร่
โดยทฤษฏีบอกว่าควรเท่ากับ 3-6 เท่า ของค่าใช้จ่ายต่อเดือน
แต่ชีวิตจริง แล้วแต่เงื่อนไขแต่ละบุคคล
โดยอย่างน้อย ต้องพอจ่ายให้เพื่อแก้ปัญหาฉุกเฉิน
เช่น เจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุ ซ่อมรถฉุกเฉิน
ซึ่งส่วนตัวผมมีเงินฉุกเฉิน 30,000 บาท
เพราะเพียงพอใช้งานและหาได้ไม่ยากเกินไปครับ


วิธีสร้างเงินฉุกเฉิน


คุณอาจมีคำถามว่า แล้วฉันจะเอาเงินฉุกเฉินมาจากไหน?? 
เพราะแค่เงินเก็บเล็กน้อยยังไม่มีเลย


วิธีคือแบ่งจากเงินก้อนพิเศษมาครับ
เงินก้อนพิเศษ คือ เงินจำนวนมากที่ไม่ใช่เงินเดือน 
เช่น โบนัส คอมมิสชั่น เงินพิเศษ ฯลฯ
ปกติ อย่างน้อยปีละครั้งเราจะได้เงินก้อนนี้ แต่เรามักลืมว่ามันมีตัวตน 
เพราะถูกใช้จ่ายอย่างรวดเร็ว เผลอๆเรามีแผนใช้จ่ายก่อนเงินถึงมือด้วยซ้ำ


ดังนั้นแทนที่ใช้จ่าย เก็บเงินก้อนเป็นเงินฉุกเฉินแทน 
เพราะคือโอกาสทองทำให้มีเงินโดยไม่ต้องเก็บเล็กผสมน้อย 
หากเก็บทั้งก้อนไม่ได้ เลื่อนรายจ่ายไม่จำเป็น 
เช่น โทรศัพท์ใหม่ เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ แต่งรถ ท่องเที่ยว ฯลฯ 
เพื่อให้เหลือเงินมากที่สุด


หนึ่งในเงินก้อนที่ควรแปลงเป็นเงินฉุกเฉินมากที่สุดคือ หนี้สินก้อนใหญ่ 
เพื่อนผมคนหนึ่งบ่นเป็นหมีกินผึ้งว่าไม่มีเงินฉุกเฉินเสียที 
แต่วันหนึ่งทะลึ่งบอกว่า มีเงินดาวน์รถ 300,000 บาท  
ผมจึงเสนอว่า ให้เปลี่ยนหนี้เป็นทุนคือ คือ ชักออกมา 50,000 เก็บเป็นเงินฉุกเฉิน 
แล้วลดเงินดาวน์หรือspecของรถลง แค่นี้ก็มีเงินฉุกเฉินแล้ว

เราสามารถใช้หลักข้างบนกับหนี้สินก้อนใหญ่ทุกชนิด 
เช่น บ้าน คอนโด อะไรก็ตามที่ใช้เงินดาวน์มาก ได้เช่นกัน

เงินก้อนในมือคือโอกาสทองฝังเพชร อย่าปล่อยให้หลุดมือไปครับ


เซกานิกเอฟเฟค:จิตวิทยาแห่งการลงมือ


ในชีวิตจริง คุณอาจมีคำถามว่า ฉันควรรอจังหวะมีเงินพิเศษก้อนใหญ่
แล้วเก็บเงินฉุกเฉินรวดเดียว หรือทยอยเก็บเรื่อยๆ อันไหนดีกว่ากัน

คำถามนี้ใช้ "เซกานิกเอฟเฟค" ตอบได้ครับ






Bluma Zeigarnik (ซ้ายมือ)




บลูม่า เซกานิก (Bluma Zeigarnik) เป็นนักจิตวิทยาชาวลิธัวเนีย
วันหนึ่งเธอนั่งในร้านอาหารและสังเกตุว่า หากอาหารยังไม่เสิรฟ์ 
พนักงานจะจำชื่ออาหารของโต๊ะนั้นได้อย่างแม่นยำ 
แต่พอเสริพ์ปุ๊บ กลับลืมชื่ออาหารอย่างรวดเร็ว


เซกานิกนำเรื่องนี้มาเป็นงานวิจัยปริญญาเอก 
เธอค้นพบว่า นอกจากไม่ลืมแล้ว มนุษย์มีแนวโน้มทำสิ่งที่เริ่มไปแล้ว
และยังค้างคาให้เสร็จจนได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
จิตวิทยาข้อนี้ถูกขนานนามว่า เซกานิกเอฟเฟค (Zeigarnik Effect) 
ซึ่งนักการตลาดทั่วโลกนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อให้ลูกค้าทำสิ่งที่พวกเขาต้องการ

ตัวอย่างคือ ละครทีวีมักจบตอนเมื่อเกิดเหตุกับตัวเอก เช่น พระเอกอยู่ในวงล้อม
ตัวร้ายเงื้อดาบฟัน และ
…… โปรดติดตามตอนต่อไป
เทคนิคนี้ทำให้ผู้ชมรู้สึก
ค้างคาและอยากดูให้จบ
วันรุ่งขึ้น จึงนั่งเฝ้าจอรอทราบผล เรตติ้งหนังเรื่องนั้นจึงกระฉูด


บัตรสะสมแต้มคือ การทำให้ลูกค้าเริ่มต้นแบบเนียนๆ
เราจึงมีแนวโน้มทำสิ่งค้างคาให้จบ
นั่นคือ ซื้อของเพื่อสะสมแต้มจนครบ ร้านค้าจึงขายของได้มากขึ้น


แล้วเราจะนำเรื่องนี้มาช่วยเรื่องเงินเก็บฉุกเฉินอย่างไร
คำตอบคือ จงเริ่มต้น คุณมีแนวโน้มจะเก็บเงินจนมีเงินฉุกเฉินตามเป้าที่ตั้งไว้
เรื่องนี้ผมมีประสบการณ์ตรง ผมตั้งเป้ามีเงินฉุกเฉิน 30,000 บาท 
เมื่อได้เงินก้อนพิเศษ ผมแบ่งมา 10,000 ที่เหลือใช้หนี้ 
ผลคือเซกานิกเอฟเฟคเริ่มทำงาน ความรู้สึกค้างคาผลักดันให้วางแผน ลงมือทำ 
เพื่อทำสิ่งที่เริ่มแล้วให้เสร็จ ในที่สุดก็มีเงินฉุกเฉิน 30,000 บาทจนได้


เซกานิกเอฟเฟคได้รับการพิสูจน์มาแล้วจากทั่วโลก 
เรานำเทคนิคนี้มาช่วยให้มีเงินเก็บฉุกเฉินได้ครับ



นิสัยประหยัดสร้างเศรษฐี


Mr. Adam Khoo เป็นมหาเศรษฐีชาวสิงค์โปร์ 
แต่เขามัธยัสถ์มาก สวมเสื้อผ้าธรรมดา นั่งเครื่องบินชั้นประหยัด
เมื่อคนถามว่าทำไมนั่งแบบนี้ เขาตอบว่า 
ก็เพราะนั่งแบบนี้แหละ ผมจึงเป็นมหาเศรษฐี








แม้เราจะมีเงินฉุกเฉินก็ตาม แต่การใช้จ่ายอย่างประหยัดก็ยังจำเป็น
เพราะหากใช้เงินไม่บันยะบันยั้ง เงินฉุกเฉินจะมลายหายไปอย่างรวดเร็ว 
จนต้องเอาเงินลงทุนมาใช้เหมือนเดิม
อีกทั้งยิ่งประหยัดมากเท่าไหร่ ยิ่งทะยานสู่เป้าหมายไวขึ้นเท่านั้น


โดยสมมุติเราประหยัด Starbuckแก้วละ 130 บาท วันละแก้ว
หนึ่งปีเราจะมีเงินออม 47,450 บาท
เอาเงินนี้ไปซื้อกองทุนรวม ขี้หมูขี้หมาก็ผลตอบแทนเฉลี่ย10%ต่อปีไม่ใช่เรื่องยาก
ซื้อแล้วลืม ปล่อยให้เงินทำงานเต็มที่
10 ปีผ่านไป คุณจะมีเงิน 123,073 บาท
นี้ขนาดกาแฟแก้วเดียวยังสร้างเงินมากขนาดนี้
ถ้าลดรายจ่ายไม่จำเป็นสักหนึ่งปี แล้วนำมาทุ่มเทลงทุน
อีก10ปี มันจะเปลี่ยนแปลงชีวิตคุณมากมายมหาศาลขนาดไหน??


ต่อไปคือTipดีๆสำหรับประหยัดเงินที่ผมใช้ได้ผล

1.บ้านคือวิมานของเรา


คุณเคยออกนอกบ้าน พอกลับมา รู้สึกว่าเงินหายไปไหนหมดไหมครับ?
เหตุการณ์นี้เกิดกับทุกคน ผมก็เป็น
เพราะออกจากบ้านทำให้โอกาสเสียเงินเพิ่มขึ้นมหาศาล
เช่น กินข้าวร้านอาหาร ดูหนัง ซื้อเสื้อผ้า สินค้าโปรโมชั่น
รู้ตัวอีกที เงินก็บินจากเราไปเสียแล้ว แถมต้องเสียค่าน้ำมัน ค่าทางด่วน ที่จอดรถอีก
การออกจากบ้าน จึงเป็นเหตุให้รายจ่ายเพิ่มกระฉูด


หนึ่งในวิธีลดค่าใช้จ่ายคือ อยู่ในบ้านให้มากที่สุด
ปัจจุบันผมไม่ดูหนังนอกบ้าน(ถ้าไม่ดีจริง) ส่วนมากซื้อDVDหรือดูจากอินเตอร์เน็ต
กินข้าวที่บ้านกับครอบครัว หากอยากสังสรรค์ ก็เชิญเพื่อนมาดื่มกินที่บ้าน
พอออกนอกบ้านน้อยลง ผมพบว่า เงินเหลือมากกว่าเดิมเฉลี่ย 2000 ต่อเดือน
หรือเท่ากับ 24,000 ต่อปี
การเสพสุขในบ้าน ไม่ทำให้ความสุขลดลง แถมเงินเพิ่มขึ้นอีกครับ







2. ดูทีวีและอินเตอร์เน็ตให้น้อยลง


ทีวีและอินเตอร์เน็ตคือสื่อยอดฮิตในไทย
เมื่อเสพสื่อทั้งสอง นอกจากดูสิ่งที่ต้องการ ยังมีของแถมคือ โฆษณา
มีงานวิจัยว่า ดูโฆษณามาก ส่งผลเหมือนโดนมนต์สะกด คือซื้อสินค้าโดยไม่รู้ตัว
ดังนั้นยิ่งดูทีวีและอินเตอร์เน็ตมากเท่าไหร่ ยิ่งเสียเงินมากเท่านั้น



ปัญหาคือ ความสุขและประสิทธิภาพในชีวิต ไม่ได้แปรผันตรงกับจำนวนของที่ซื้อ
เพราะซื้อมากขึ้น ไม่ได้การันตีว่าจะแก้ปัญหาในชีวิตได้
โน๊ตบุ๊คใหม่ไม่ทำให้ทำงานดีขึ้น หากความเชี่ยวชาญยังเท่าเดิม
รถใหม่ไม่ทำให้เรามีเวลาแก่ครอบครัวมากขึ้น
เรายังพูดคุยกับแฟนด้วยความไม่เข้าใจเหมือนเดิม แม้มีโทรศัพท์ใหม่
ซื้อให้น้อยลงบ้าง จึงไม่ทำให้เราแย่ลง กลับช่วยประหยัด ส่งผลดีต่อเราในวันหน้า


แล้วเราจะลดผลกระทบจากโฆษณาได้อย่างไร
วิธีการคือ ดูทีวีและอินเตอร์เน็ตให้น้อยลง โอกาสซื้อของจากโฆษณาย่อมลดด้วย
จากการสังเกตุของผม รายการที่มีโฆษณามากที่สุดคือช่องและหน้าเว็บบันเทิง
ซึ่งหากดูน้อยลง ก็ไม่ทำให้ประสิทธิภาพในการหาความรู้
หาข้อมูล ทำงานน้อยตามแต่อย่างใดครับ  


3. เลื่อนรายจ่าย

คุณเคยมีประสบการณ์แบบนี้ไหมครับ
คุณอยากซื้อเสื้อผ้าใหม่มาก มากจากหงุดหงิดหากไม่ได้ซื้อ
สุดท้ายมีเหตุบางอย่างทำให้คลาดไป อย่างไรก็ตามเมื่อผ่านไป
30 วัน
คุณก็ไม่รู้สึกอยากได้ชุดนี้อย่างรุนแรงอีกแล้ว


ผมเคยต้องการNotebookใหม่ ด้วยเหตุผลว่าช่วยทำงานเร็วขึ้น
แต่ไม่ได้ซื้อเพราะเงินไม่พอ ผ่านไป
30 วัน
ผมพบว่ายังสามารถทำงานเสร็จทันเวลา ด้วย
Notebookตัวเก่านี้แหละ



บ่อยครั้งเราซื้อของเพราะ
อยากได้มากกว่าเพราะจำเป็นจริงๆ 

ซื้อมาก็ไม่ได้ใช้ จนบางทีแอบหยิกตัวเองว่าซื้อมาทำไม
ซึ่งสามารถแก้ไขด้วยวิธี
เลื่อนไป 30 วันครับ






วีธีการมีดังนี้


1. เมื่ออยากซื้อสินค้า จดรายชื่อของในกระดาษ บอกตัวเองว่า ฉันจะซื้อในอีก 30 วันข้างหน้า


2. 30 วันผ่านไป นำรายชื่อมาดู ถามตัวเองว่า
-         ยังต้องการของหรือไม่
-         หากสำคัญจริง ทำไมอยู่ได้โดยไม่มีตั้ง 30 วัน ??


หากคำตอบคือ ซื้อ ก็ซื้อเถอะครับ 
แต่จากประสบการณ์ผม 100 รายชื่อ จะเหลือซื้อแค่20เท่านั้น 
เพราะผ่านไป 30 วัน ความอยากจะลดฮวบ ไม่ต้องการอย่างรุนแรงอีกแล้ว 
และเป็นการสะท้อนว่า ขาดเธอไม่ถึงกับขาดใจ มิฉะนั้น คงไม่อยู่ไม่ได้มาถึง 30 วัน



สรุปคือ วิธีใช้เงินคือตัวกำหนดอนาคตของคุณ
หากคุณฟุ่มเฟือย ชีวิตก็หายนะ
แต่หากอดออมมาลงทุนสร้างเนื้อสร้างตัว ชีวิตจะพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ
จากคนธรรมดา กลายเป็นนักลงทุนผู้มั่งคั่ง ชีวิตประสบความสำเร็จ

คุณอยากเป็นแบบไหน ชีวิตหายนะหรือประสบความสำเร็จ คุณเลือกได้ครับ 

ขอบพระคุณครับ

นักเก็งกำไรด้วยปัจจัยพื้นฐาน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Google