วันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2559

แจกหนังสือหุ้น อสังหา การเงินส่วนบุคคล 2017




เล่นหุ้นให้รวย





รวยด้วยอสังหา



ปลดหนี้มีเงิน


Read More »

วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

สินทรัพย์น่าสนใจหลังทรัมป์ชนะเลือกตั้ง


หลังจากดูการให้สัมภาษณ์ครั้งล่าสุดของ Donald trump ในรายการ 60-minutes
ผมขอแสดงความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐและหุ้นไทยดังนี้


สิ่งที่ Trump คงทำแน่และทำก่อนคือ การลดภาษีทั้งแบบบุคคลธรรมดาและธุรกิจ
โดยกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าวมากที่สุดคือ เจ้าของกิจการและเศรษฐี
เพราะรายจ่ายลดลง มีเงินสดเหลือเยอะขึ้น
Trump เชื่อว่า หากมิลเลี่ยนแนร์ทั้งหลายมีเงินมากขึ้น
พวกเขาเหล่านั้นจะลงทุนเพิ่มเพื่อขยายกิจการ เกิดการจ้างงานในสหรัฐมากขึ้น
เศรษฐกิจของอเมริกาจะเติบโต



เพื่อให้มั่นใจมากขึ้นว่า เจ้าของกิจการจะนำเงินมาลงทุนแทนที่จะฝากไว้ในธนาคาร
Trump จึงมีนโยบายสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน สนามบิน ไฟฟ้าประปา
โทรคมนาคม โรงพยาบาล และอื่นๆอีกเพียบ
มูลค่าโครงการเวอร์วังอลังการกว่า 1 พันพันล้าน ดอร์ลาห์สหรัฐ
Trumpวาดฝันไว้ว่า โครงการเหล่านี้จะเป็นแม่เหล็กดูดเงินเศรษฐีให้มาลงทุนตามที่Trumpต้องการ



ผลจากนโยบายลดภาษีและสร้างโครงสร้างพื้นฐาน
นำมาซึ่งความวิตกของนักวิเคราะห์การเงินตั้งแต่ก่อนทรัมป์ชนะเลือกตั้งแล้วว่า
หากทรัมป์ทำตามที่พูดจริง ปัญหาหนี้ของรัฐบาลสหรัฐที่สาหัสอยู่แล้วอาจเข้าสู่ขั้นวิกฤตของวิกฤต
เพราะต้องหาเงินมหาศาลมาจ่ายค่าสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่รายรับลดลง(ลดภาษี)
เมื่อรายได้ไม่สมดุลรายจ่าย ก็ต้องกู้เงินมาใช้
หนี้ใหม่สมทบหนี้เก่า สหรัฐจะแบกหนี้สููงยิ่งกว่าเทือกเขาหิมาลัย
พันธบัตรของสหรัฐจะมีค่าเหมือนขยะ เพราะไม่มีใครเชื่อว่าอเมริกาจะหาเงินมาใช้หนี้ได้
ส่งผลให้ ไม่วันใดก็วันหนึ่งการใช้จ่ายภาครัฐของสหรัฐต้องลดลง ทำให้เศรษฐกิจอเมริกาเข้าสู่ภาวะถดถอย



ปัญหาหนี้ของสหรัฐข้างต้น หากนักการเงินรู้
มีหรือที่ Trump ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจแสนล้านจะไม่ทราบ
ดังนั้น Trump จึงมีนโยบาย"โยกเงิน"
โดยลดค่าใช้จ่ายด้าน " Social Security and Medicare"
ซึ่งมีสัดส่วนสูงเกิน 50% ของรายจ่ายทั้งหมดของรัฐบาลสหรัฐ
แล้วมาจ่ายในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานแทน เพื่อลดความจำเป็นในการกู้เงิน



ส่วนตัวเห็นว่า การบริหารรายจ่าย (Speding Management)คือ key sucess factor ของ Trump
หากทำไม่ดี สหรัฐก็บรรลัยเหมือนที่นักวิเคราะห์กังวล
แต่หากบริหารดี หาเงินมาใช้ได้โดยไม่ก่อหนี้มากเกินไป
คนก็จะเชื่อมั่นว่า สหรัฐเติบโตแบบมีคุณภาพ เงินจะไหลเข้าอเมริกามาก ดอล์ล่าร์จะแข็งค่า
จากเหตุผลข้างต้น ส่วนตัวผมเชื่อว่า หลัง Trumpชนะเลือกตั้ง


สินทรัพย์ที่น่าสนใจคือ US Dollar โดยข้อมูลวันที่ 14/11/59
อัตราแลกเปลี่ยน = 35.49 บาท ต่อ US Dollar
สัปดาห์เดียว US Dollar แข็งค่าขึ้นประมาณ 1.5%
จ่อใกล้จุดสูงสุดในรอบ1 เดือนแล้ว ส่วนจะทะลุหรือไม่
ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม บทความข้างต้นเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของผมเท่านั้น
นักลงทุนควรพิจารณาอย่างรอบคอบ และมีจุดตัดขาดทุนทุกครั้ง
เพื่อไม่ให้สูญเสียเงินต้นมากเกินไป

ขอให้ทุกท่านโชคดี
Read More »

วันพุธที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559

วิธีหาเงินทุนทำธุรกิจแบบคนไม่มีเงิน



ปัญหาอย่างหนึ่งของคนอยากทำธุรกิจคือไม่มีเงินทุน
จึงไม่ได้เริ่มเสียที ชีวิตเลยติดหล่มไม่ไปไหน
ความจริงคือ ทุนไม่ได้หมายถึง เงินเท่านั้น
แม้ไม่มีเงินมาต่อเงิน แต่ก็มีอย่างอื่นที่เราสามารถใช้เป็นทุนเพื่อหาเงินเพิ่มได้
 
ผมได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับการทำธุรกิจของชาวจีน
ซึ่งบทหนึ่งเขียนเรื่อง วิธีหาเงินทุนแบบคนไม่มีเงิน
การสร้างตัวของคนจีนในไทยเป็นตัวอย่างที่ดีมากของประเด็นนี้
พวกเขาเดินทางจากจีนสู่ไทยสมัยรัชการที่ 5
มาเสื่อผืนหมอนใบ ไม่มีเงิน ไม่มีเส้นสาย บางคนไม่มีแม้แต่ที่ซุกหัวนอน
ส่วนใหญ่มาเป็นลูกจ้าง ใช้แรงงานแลกเงิน
แต่เดี๋ยวนี้กลับกัน คนไทยกลายเป็นลูกจ้าง
คนจีนเป็นเจ้าของธุรกิจและมหาเศรษฐี
 
คำถามคือ ตอนคนจีนตัวเปล่าเล่าเปลือย
ใช้วิธีใดในการหาเงินทุนมาทำธุรกิจ

เคล็ดลับมี 3 ข้อคือ แรงงาน เวลา และ ประหยัด

(1)แรงงาน : แรงงานคือทุนอย่างหนึ่งเพราะนำแลกเป็นเงินได้
ตอนคนจีนเหยียบแผ่นดินไทย ไม่มีทุนก็ขายแรงงานแลกเงิน เช่น แบกกระสอบ ยกของ ทำงานในร้าน ฯลฯ
ไม่เกี่ยงงาน หนักเอาเบาสู้ ได้เงินมาก็ใช้อย่างมัธยัสถ์
เก็บออมสะสมเป็นเงินทุน

สำหรับคนมีปริญญา การใช้แรงงานดูเป็นความคิดที่ไม่เข้าท่า
แต่ในชีวิตจริง จะมีกี่คนที่ในเวลาว่าง ได้ทำงานที่ตรงสเป็คทุกอย่าง 
หากคุณมีเวลาแล้วไม่รู้จะทำอะไรจริงๆ
อาจเริ่มต้นด้วยการใช้แรงงานในร้านซึ่งทำสิ่งที่คุณสนใจ
เช่น เสาร์อาทิตย์ สมัครเป็นเด็กฝึกงานในอู่ซ่อมรถ
ร้านกาแฟ ร้านของของที่จตุจักร
เพราะใช่ว่าจะทำงานแบบนี้ตลอดไปเมื่อไหร่
พออะไรดีกว่าเข้ามา ค่อยขยับขยายก็ได้
อีกทั้งงานพื้นฐานก็ให้อะไรมากกว่าที่คิด

ดร.กฤษนะ กฤตมโนรต หนึ่งในนักขายประกันที่เก่งที่สุดในไทย
สมัยหนุ่มกระทง เคยเป็นเด็กติดรถบรรทุกของร้านขายยา เ
ขาสังเกตุจนรู้ปรุโปร่งว่า
ร้านสั่งสินค้าจากที่ไหนถึงมีต้นทุนถูก ลูกค้าชอบอะไร

บริหารสต๊อคอย่างไรไม่ให้ทุนจม
ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่มีสอนในมหาลัย 
คุณจะรู้ได้จากการคลุกคลีหน้างานเท่านั้น


(2)เวลา คนจีนสมัยก่อนขยันมาก ตื่นก่อนนอนหลัง
ระหว่างวันทำงานเป็นระวิง เพราะพวกเขาคิดว่า เวลานั้นมีค่า
หากใช้ทำงานก็มีโอกาสได้เงิน จึงทำโน้นทำนี่ตลอดเวลา
เล็กน้อยหนักเบาเอาทั้งนั้น อย่างน้อยก็ได้ประสบการณ์
ดีกว่านั่งๆนอนๆอยู่เฉย ผลาญเวลาอย่างสูญเปล่า

การใช้เวลาหาตังค์มาเป็นทุนมีหลายวิธี
แต่ที่ง่ายที่สุดคือ ใช้เวลากับงานที่ทำอยู่แล้ว
เช่น ขยันทำ โอทีให้มากขึ้น 
หรือขนขวายหาความรู้เพิ่มเพื่อความก้าวหน้า
เพราะหากได้เลื่อนตำแหน่ง เงินเดือนย่อมมากขึ้น
หนทางสู่การมีเงินทุนก็เปิดกว้าง
จำไว้ว่า ไม่มีคำว่าขี้เกียจในหมู่คนรวย จงใช้เวลาให้คุ้มค่าเสมอ


(3)ประหยัด คนจีนขึ้นชื่อเรื่องความมัธยัสถ์ บาทเดียวไม่กระเด็น
สาเหตุที่พวกเขากินข้าวต้ม เพราะในปริมาณข้าวสารเท่ากัน
หุงข้าวสวยจะหมดเร็วกว่าทำข้าวต้ม
การนำข้าวผสมน้ำช่วยลดค่าใช้จ่ายได้
 
บางคนอาจนินทาว่า "ขี้งก" แต่เรื่องนี้มีสาเหตุ
สมัยร5ไม่มีคำว่าเจ้าสัวในหมู่คนจีนอพยพ เพราะเสื่อผืนหมอนใบกันทั้งนั้น
ต้องใช้แรงงานอาบเหงื่อต่างน้ำแลกเงินมา
หากใช้จ่ายสิ้นเปลือง ก็ไม่มีเหลือเก็บมาทำทุน
คนจีนรู้ดีว่า เงินเก็บเพิ่มขึ้นมาจาก 2 ทาง คือ เพิ่มรายได้ และ ลดรายจ่าย สมัยนี้อิทธิพลของสื่อทำให้ฮิตแต่เพิ่มรายได้
ความจริงคือ ไม่มีอะไรได้มาฟรี อยากได้เพิ่มต้องลงทุน
บ่อยครั้งการลงทุนไม่เป็นอย่างที่คิดเพราะขาดประสบการณ์
สถานการณ์เลยยิ่งแย่กว่าเดิม

ขณะที่ลดรายจ่ายทำง่ายกว่า
เพราะไม่ต้องลงทุน เงินอยู่ในมือแล้ว

อยู่ที่ตัดสินใจว่าจะใช้หรือไม่เท่านั้น
หลักคิดอีกข้อในช่วงสร้างตัวของคนจีนคือ 
 "อะไรที่ไม่ซื้อแล้วไม่ตาย เก็บเป็นเงินทุนได้ทั้งสิ้น"
คนที่อยากมีเงินทุนก็ใช้หลักการนี้ได้เช่นกัน
ลองสำรวจ ดูว่า อะไรที่ไม่จ่ายก็มีชีวิตอยู่ได้
เช่น กาแฟแก้วละ 60 เสื้อผ้า ท่องเที่ยว เป็นต้น
เปลี่ยนรายจ่ายเหล่านี้มารอมริบเป็นเงินทุนได้ไหม

แนวคิดนี้อาจดูสุดโต่งในยุคปัจจุบัน แต่มันเป็นไปได้ในโลกความจริง
ถ้ายอมอดเปรี้ยวกินหวาน จ่ายแต่สิ่งจำเป็นเป็นเวลา1 ปี
คุณจะพบว่ามีเงินออมมากขึ้นชนิดที่ตัวเองยังประหลาดใจ
จะได้ไม่มีปัญหาเรื่องเงินทุนมาทำธุรกิจอีกต่อไปครับ

ทั้งหมดก็เป็นเคล็บลับหาเงินทุนแบบคนไม่มีเงิน
หวังว่าคงเป็นประโยชน์ต่อทุกท่าน ไม่มากก็น้อย
ขอบคุณครับ
ท็อป

สนับสนุนความรู้ - เรียน Adwords เชิงกลยุทธ์ By Search Monopoly SearchMonopoly

Read More »

วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559

สอนเล่นหุ้นด้วยปัจจัยพื้นฐานผสานเทคนิค - 1 ทำไมต้องใช้กราฟประกอบการลงทุน







ย้อนกลับไปหลายปีก่อน
PTTEPคือหุ้นของบริษัทพลังงานที่มีความสามารถทำกำไรสูงมาก
สินค้าของบริษัทคือน้ำมันดิบและก๊าซเป็นสิ่งจำเป็นของสังคมไทย
ความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คู่แข่งก็น้อย
ปีๆหนึ่ง PTTEPจึงมีกำไรเกือบ5หมื่นล้านบาท
ติด 1ใน5 ของบริษัทที่กำไรสูงสุดในไทย
ด้วยความที่สินค้าเปรียบเหมือนอากาศซึ่งคนขาดไม่ได้
PTTEPจึงได้รับความเชื่อมั่นอย่างสูงจากนักลงทุนว่า
เป็นบริษัทที่มีกำไรมั่งคงเหมือนเสาหิน ไม่ผันผวนง่ายๆ

ปลายปี 2557 ราคาน้ำมันตกต่ำ 
ลดลงจาก 100$/Barrel มาอยู่ที่ 70$
ส่งผลให้ราคาหุ้นPTTEPร่วงตาม
ช่วงนั้นผมได้ยินนักลงทุนหลายท่านพูดว่า
นี้เป็นโอกาสทองฟังเพชร ในการซื้อหุ้นPTTEP
เพราะถ้าราคาน้ำมันต่ำมากๆ 
ผู้ผลิตทั่วโลกก็จะลดการผลิต
เมื่อชัพพลายน้อยลง ราคาน้ำมันจะพลิกกลับสูงขึ้น
ราคาหุ้นPTTEPย่อมฟื้นคืนเป็นเงาตามตัว
ซื้อหุ้นตอนนี้ อนาคตคงขายได้กำไรงาม
ทำให้ตอนนั้น คนจึงแห่ช้อนซื้อหุ้น PTTEPอย่างคึกคัก

แต่เหตุการณ์ไม่เป็นดังคาด
ราคาหุ้นPTTEPตกต่อเนื่อง ดิ่งลงเหมือนรถตกเขา
จากปี 2557 ราคาหุ้นPTTEPประมาณ 170บาท
ต้นปี2559 เหลือแค่ 42 บาท ลดลง 76% 
ส่งผลให้นักลงทุนที่ช้อนซื้อ ช้อนหักไปตามๆกัน

สาเหตุที่ราคาหุ้น PTTEPลดหนัก มาเฉลยในปี 2559 นี่เองว่า
อุตสาหกรรมน้ำมันเปลี่ยนแปลงแล้วอย่างสิ้นเชิง 
เพราะการเฟื่องฟูของShale Oil 
ที่ทำให้ซัพพลายน้ำมันโลกเพิ่มขึ้นมากแบบถาวร 
ฐานราคาน้ำมันจึงต่ำลง
รายได้ของPTTEPจึงตกและยากจะกลับไปสูงเหมือนอดีตอีกครั้ง

ประเด็นคือ กว่าจะรู้ชัดเจนว่าพื้นฐานบริษัทเปลี่ยนแปลง 
ราคาหุ้นก็ถึงจุดต่ำสุดเสียแล้ว





เหตุการณ์ข้างต้น คือความเสี่ยงของการลงทุนแบบหนึ่ง
ยิ่งเกิดกับบริษัทที่ใหญ่และมั่นคง ยิ่งอันตราย
เพราะความเชื่อมั่นมักทำให้เกิดภาพลวงตาว่า 
บริษัทยังดีอยู่  ทั้งที่ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทอาจไม่เหมือนเดิมแล้ว


คำถามคือ จะป้องกันตัวความเสี่ยงดังกล่าวได้อย่างไร

คำตอบส่วนตัวผมคือ ใช้กราฟราคาเป็นตัวช่วย
เพราะราคาหุ้นสะท้อนทุกสิ่ง
หากบริษัทเกิดปัญหาซึ่งทำให้ปัจจัยพื้นฐานแย่ลง
ราคาหุ้นจะดิ่งเหว เกิดเป็นแนวโน้มขาลง (Downtrend)
และหากสถานการณ์ของบริษัทฯยังไม่ดีขึ้น 
หรือว่ามีปัจจัยลบอื่นรออยู่ในอนาคต ราคาหุ้นจะตกต่อ 
ตกเรื่อยไปจนกว่าบริษัทฯจะแก้ไขสถานการณ์ได้ 
เมื่อนั้นราคาหุ้นจึงเริ่มหยุดตก หรือพลิกเพิ่มขึ้น



insider คือธรรมชาติของตลาดทุน


ทำไมราคาหุ้นจึงสะท้อนทุกสิ่ง
เพราะมันเสมือนเป็นนักข่าวที่รายงานว่า
เจ้าของบริษัท รายใหญ่ และตลาด รู้สึกหรือทำอะไรกับหุ้นตัวนี้
ลองจินตนาการว่า เมื่อบริษัทฯเริ่มประสบปัญหา 
คนแรกที่รู้คือเจ้าของบริษัท
ต่อมาคือรายใหญ่ซึ่งเข้าถึงข้อมูลก่อนใคร
พวกเขาจึงขายหุ้น
เมื่อแรงขายมากกว่าแรงซื้อ 
จึงสะท้อนออกมาที่ราคาหุ้นลดลง 
และหากกลุ่มคนข้างต้นเห็นว่า 
สถานการณ์ของบริษัทเหมือนคนป่วยที่ยังไม่ฟื้น
จึงไม่ซื้อหุ้นเพราะไม่มั่นใจ ราคาหุ้นจึงตกต่อ 
ตกไปเรื่อยๆจนถึงจุดที่ปัญหาของบริษัทได้รับการแก้ไข 
สถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆจากจุดที่เป็น 
ซึ่งผู้ที่รู้ว่าคนป่วยหายแล้วเป็นกลุ่มแรก
ก็คือกลุ่มคนที่ขายก่อนใครนั่นแหละ 
พวกเขาจึงช้อนซื้อหุ้น เมื่อแรงซื้อมากกว่าแรงขาย
ราคาหุ้นจึงไม่ลด และพลิกเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

สรุปคือกราฟราคาหุ้นช่วยให้เรารู้สถานการณ์แท้จริงของบริษัท 
เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการซื้อผิดจังหวะครับ


2หัวดีกว่าหัวเดียวจริงหรือ ??


มีคนถามผมบ่อยว่า 
การใช้พื้นฐานผสานเทคนิค 
เมื่อเปรียบกับใช้พื้นฐานและเทคนิคเพียงอย่างเดียว 
มีข้อดีข้อเสียอย่างไร

คำตอบส่วนตัวผมคือ หากเป้าหมายคือส่วนต่างราคาหุ้น
การใช้2อย่างร่วมกัน สร้างกำไรไม่ต่างกับใช้อย่างเดียว
แต่เสียเวลามากกว่า 
เพราะต้องวิเคราะห์ทั้งพื้นฐานและเทคนิคร่วมกัน
อุปมาเหมือนคน2คนทำงานลักษณะเดียวกัน
คนหนึ่งทำ 4ชั่วโมงต่อวัน อีกคนทำ8ชั่วโมง
แต่ค่าแรง 300 เท่ากัน ได้เงินเท่ากันแต่กินแรงแตกต่าง

**อย่างไรก็ตาม หากคุณใช้พื้นฐานผสานเทคนิคแล้วก็กำไร
ก็ใช้ต่อไปเถอะครับ เพราะแนวทางการลงทุนใดที่คุณกำไรและพอใจ ก็ดีทั้งนั้น**

คำถามต่อมาคือ แล้วผมใช้พื้นฐานผสานเทคนิคเพื่ออะไร ??
คำตอบคือ การใช้2อย่างร่วม 
คือเครื่องมืออันทรงพลัง 
สำหรับการเล่นหุ้นที่มีเป้าหมายเพื่อ "สร้างกระแสเงินสด" (Cashflow)
เพราะทำให้เรามีเงินสดมากขึ้นโดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม 
และป้องกันความเสี่ยงจากการที่หุ้นตัวนั้น 
ไม่ใช่เครื่องจัการสร้างกระแสเงินสดที่ดีอีกต่อไป
ซึ่งรายละเอียดของการเล่นหุ้นเพื่อสร้างกระแสเงินสด 
จะเขียนต่อในตอนที่2นะครับ


สรุป การใช้กราฟราคาช่วยในการลงทุน
มีข้อดีคือ ป้องกันความเสี่ยงจากการซื้อหุ้นผิดจังหวะ
เป็นวิธีที่เหมาะกับการเล่นหุ้นที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างกระแสเงินสด
เพราะทำให้เรามีเงินสดมากขึ้นโดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มครับ

สนับสนุนความรู้ - เรียน Adwords เชิงกลยุทธ์ By Search Monopoly SearchMonopoly

Read More »

วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2559

สร้างเงินล้านด้วยทิศทางการเล่นหุ้นแบบPlaysafe

5 ปีที่แล้วผมคุยกับนักเก็งกำไรคนหนึ่ง ตอนนั้นเขามือขึ้นมาก พอร์ตโต 100% ใน 1 ปี สีหน้าเขาแจ่มใสและเปี่ยมความหวัง เขาบอกว่า รู้สึกเลยว่า ความร่ำรวยจากเล่นหุ้นน่าจะรอเขาอยู่ในอนาคตอันใกล้

3 ปีต่อมา ผมพบชายคนนี้อีกครั้งและถามว่า เขารวยอย่างคิดไหม เขาอ้อมแอ้มตอบว่า มูลค่าพอร์ตลดกลับเหลือเท่าเดิมเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เพราะหลังจากกำไรหนักมากใน 1 ปี เขาทุ่มทุนทั้งหมดมาเก็งกำไรใน TFEX เพื่อหวังเร่งสปีดสู่ความร่ำรวย แต่แล้วก็สวรรค์ล่ม เขาขาดทุน TFEX อย่างหนัก เพราะ TFEX แตกต่างจากหุ้น วิธีเก็งกำไรแบบเดิมจึงใช้งานไม่ได้ผล เขาหงุดหงิดและจ้องแต่เอาคืนเหมือนคนเสียพนัน แต่ทุกอย่างยิ่งเลวร้ายลง  ในที่สุด กำไรที่ได้มาก็คืนตลาดหมด มูลค่าพอร์ตลดลงมาที่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง


---------

ปัญหาอย่างหนึ่งของนักลงทุน คือ ลงทุนหรือเล่นหุ้นมานาน แต่ไม่ได้กำไร สองปีแรกกำไรเยอะมาก แต่พอปี 3 ปี 4 ขาดทุนยับ สุดท้าย มูลค่าพอร์ตกลับมาเท่าเดิม เสียแรงเสียเวลา แต่ไม่ก้าวหน้าเหมือนพายเรือในอ่าง หนึ่งในสาเหตุของปัญหาข้างต้น มาจากผลตอบแทนการลงทุนมีความผันผวนมากเกินไป ส่งผลให้จิตใจพุ่งพล่าน ร้อนรน จนตัดสินใจผิดพลาด ตัวอย่างเช่น กำไรเยอะ พอร์ตโตไวมากก็ฮึกเฮิม อยากได้เงินมากขึ้นอีก จนลืมความเสี่ยง แต่เมื่อถึงช่วงเวลาที่ขาดทุนหนัก ๆ ติด ๆ ก็หงุดหงิด คิดแต่เอาคืน จนลืมดู "จังหวะเวลา" ว่า ตอนนี้ควรรุกหรือรับ เมื่อจิตใจปั่นป่วน การตัดสินใจของเราจะย่ำแย่ เริ่มขาดทุนและคืนกำไรให้ตลาดเรื่อย สุดท้ายมูลค่าพอร์ตกลับมาจุดเดิม

คำถาม คือ เราจะแก้ปัญหาการลงทุนมานาน แต่พอร์ตไม่เติบโตอย่างไร


ภาพประกอบจาก http://www.reseller.co.nz/


นักลงทุนสามารถแก้ปัญหาข้างต้น ด้วยการเล่นหุ้นแบบPlaysafe ซึ่งเป็นวิธีลงทุนที่เน้นการทำกำไรอย่างสม่ำเสมอ ไม่หวือหวา แต่มั่นคง เน้นผลลัพธ์ระยะยาวโดยใช้พลังของกำไรทบต้นมาช่วย ส่งผลให้พอร์ตหุ้นเติบโตต่อเนื่องและยั่งยืน
 
การทำกำไรอย่างสม่ำเสมอให้ผลลัพธ์ที่น่าทึ่ง หากปีแรก คุณเก็บเงินเดือนละ 4,000 บาท ปี 2 เดือนละ4,500 เพิ่มเงินต้นปีละ 500 เอาเงินไปลงทุนให้กำไรเฉลี่ยปีละ 8% นำกำไรมาทบต้นเรื่อย ผ่านไป 10 ปี พอร์ตคุณจะมีมูลค่าถึง 1 ล้านบาท คุณจะกลายเป็นเศรษฐีเงินล้าน ลองจินตนาการว่า ถ้าคุณเก็บเงินต้นมากขึ้นและมีเวลามากกว่า 10 ปี ชีวิตคุณจะเปลี่ยนไปขนาดไหน คุณคงมีความสุขขึ้น ครอบครัวสบายขึ้น ประสบความสำเร็จมากขึ้นด้วย

                                                 ---------

วิธีการเล่นหุ้นแบบ Playsafe มีดังนี้

  • ใช้การ Asset Allocation ซึ่งเป็นการลงทุนในหลายสินทรัพย์ ไม่กระจุกที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกิน ตัวอย่างเช่น สมมุติคุณมีเงินทุน 1 ล้านบาท คุณอาจกระจายเงินไปซื้อกองทุนรวมตราสารหนี้ 4 แสน ซื้อหุ้น 3 แสน ที่เหลือเป็นเงินสด การทำแบบนี้มีข้อดีคือ เมื่อเวลาที่สินทรัพย์ที่ความผันผวนสูงมูลค่าลดลงอย่างหนัก มูลค่ารวมของพอร์ตจะผันผวนน้อย จากตัวอย่าง ถึงมูลค่าหุ้นลดลงถึง 25%  พอร์ตคุณจะลดลงแค่ 7.5% เท่านั้น ข้อดีอีกอย่างคือ หากคุณเลือกผสมสินทรัพย์ให้ดี จะสร้างผลตอบแทนที่ดีในระดับความเสี่ยงที่จำกัดได้

  •  หลักในการเลือกว่า จะเลือกซื้อสินทรัพย์อะไรบ้าง ให้พิจารณาจากค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) ซึ่งเป็นค่าความสัมพันธ์ของทิศทางราคาของสินทรัพย์เมื่อเทียบกับอีกสินทรัพย์หนึ่ง ค่านี้มีตั้งแต่ -1 ถึง 1 ถ้าค่าสหสัมพันธ์เป็น + หมายถึง เมื่อราคาสินทรัพย์หนึ่งเปลี่ยนแปลง ราคาของอีกสินทรัพย์มีโอกาสสูงจะเปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกัน ขึ้นก็ขึ้นเหมือนกัน ลงก็ลงทั้งคู่ แต่ถ้าค่าสหสัมพันธ์เป็น - หมายถึง ราคาสินทรัพย์เปลี่ยนแปลงในทิศทางตรงกันข้าม  โดยการเลือกซื้อสินทรัพย์ที่ดี ควรเป็นสินค้าที่มีค่าสหสัมพันธ์ใกล้ 0 (สัมพันธ์น้อย) หรือค่าสหสัมพันธ์เป็น - ยิ่งดี  เนื่องจาก เมื่อราคาสินทรัพย์หนึ่งลดลงอย่างหนัก สินทรัพย์อื่นที่อยู่ในพอร์ตราคาจะไม่ลงตาม ทำให้พอร์ตผันผวนน้อยลง



  • จากข้อมูลของเว็บไซด์ thanachartfund จะเห็นว่า ค่าสหสัมพันธ์ของดัชนีตราสารหนี้ไทยเป็น-เมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นไทย นี้จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมทฤษฎีการจัดพอร์ตลงทุนจึงต้องมีตราสารหนี้ผสมกับหุ้น เนื่องจากราคาสินทรัพย์ทัั้งสองมีความสมพันธ์กันน้อยมาก เมื่อหุ้นตกหนัก ๆ ตราสารหนี้จะถ่วงมูลค่าพอร์ตรวมไม่ให้ลดลงมากตามด้วย ในขณะที่ค่าสหสัมพันธ์ของดัชนีตลาดหุ้นไทยเป็น+เมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นโลก นั่นหมายถึง ความเชื่อที่ว่า การกระจายความเสี่ยงโดยไปซื้อหุ้นต่างประเทศไม่ซื้อหุ้นไทยอย่างเดียวนั้นไม่เป็นความจริง



  • คำถามคือ แล้วเราจะซื้อสินทรัพย์อะไร แต่ละชนิดซื้อเป็นมูลค่าเท่าไหร่ของพอร์ต คำตอบนี้มีคนอธิบายไว้อย่างละเอียด ข้อมูลครบถ้วน คุณสามารถดูได้ที่
  1. ลงทุนอย่างไรให้งอกเงย  https://www.krungsri.com/bank/th/KrungsriGuru/Investment/april-2016/Investment-Tips-for-Retired-Person.html ในเว็บไซต์นี้ยังมีบทความด้านการเงิน และเรื่องหุ้นดี ๆ สำหรับทั้งมือใหม่และมือเก่า
  2.  ลงทุนเน้นเติบโตโดยมีการกระจายความเสี่ยง  http://www.a-academy.net/finance/personal-finance/07-growth-port/
---------

สรุป
วิธีการเล่นหุ้นแบบ Playsafe เป็นวิธีลงทุนที่เน้นการทำกำไรอย่างสม่ำเสมอ เพื่อแก้ปัญหาพอร์ตการลงทุนมีความผันผวนมากเกินไปจนมีความเสี่ยงให้ลงทุนมานานแต่ไม่ได้กำไร  ซึ่งมีวิธีปฏิบัติคือ นำเอา Asset Allocation มาบริหารพอร์ต เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีในระดับความเสี่ยงที่จำกัดได้ครับ


Read More »

วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ติดดอยหุ้น ทำไงดี - หลุดดอยด้วยการลดต้นทุน




ติดดอย คือการที่ต้นทุนของหุ้นที่ซื้อ
แตกต่างกับ ราคาปัจจุบันมาก
เช่น มีต้นทุน 10 บาท
แต่ราคาปัจจุบัน 8 บาท
คุณจะขาดทุนทางบัญชี 2 บาท หรือขาดทุน 20%
หากราคาปัจจุบันดิ่งลงต่อเนื่อง
เช่น จาก 8 เป็น 6 เป็น 4
แต่ต้นทุนเราแช่แข็งอยู่ 10 บาทเท่าเดิม
พอร์ตจะแดงเข้มขึ้น ขาดทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าเรามองให้ดี
จะเห็นว่า ปัญหาของติดดอยคือ
“ต้นทุนซื้อ” ห่างไกลจากราคาปัจจุบัน มาก
จนขาดทุนทางบัญชีมากนั่นเอง


แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร
ง่ายมากครับ ถ้าปัญหาคือ ต้นทุนเราห่างจากราคาปัจจุบันมาก
เราก็ ดึงต้นทุนให้ “ต่ำลง” มาใกล้เคียงราคาปัจจุบัน
แค่นี้ เราก็ขาดทุนน้อย ไม่ติดดอยแล้ว





ตัวอย่าง ซื้อ 1000 หุ้น ต้นทุนหุ้นละ 10 บาท
เมื่อราคาเหลือ 8 บาท เราจะดึงต้นทุนลง ให้เหลือ 8.5 บาทต่อหุ้น
โดยมี 1000 หุ้นเท่าเดิม
เมื่อราคาลงอีกเหลือ 6 บาท เราก็ทำต้นทุนให้เหลือ 6.5 บาท
โดยจำนวนหุ้นเท่าเดิม
ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ลงไหนลงกัน
ผลคือ ท่านจะขาดทุนต่ำ ไม่เครียด ไม่กังวล
หากราคาพลิกกลับเป็น 7 บาท ท่านอาจจะขายหมด 1000 หุ้น
เก็บกำไรกลับบ้าน 0.5 บาทต่อหุ้นแบบหมูๆ

ซึ่งหากเปรียบกับอีกคน ที่แช่แข็งต้นทุนอยู่ที่ 10 บาท
หากราคาลงไปเหลือ 6 บาท จะขาดทุนอ่วม 40%
พอราคากลับไป 7 บาท ก็ยังขาดทุน 30%
จะขายก็ขาดทุนหนัก หากไม่ขายก็กลัวราคาดิ่งลงอีก
จะขึ้นจะล่องก็เจ็บตัวทั้งนั้น
จะเห็นว่า ผลลัพธ์ที่ต่างกันฟ้ากับเหวของนักลงทุน 2 ท่าน
เกิดจาก “ต้นทุน” ที่ต่างกันนั่นเอง


สรุป

วิธีแก้ปัญหาติดดอยคือ
ทำให้ “ต้นทุน” หุ้นใกล้เคียงราคาปัจจุบันมากที่สุด
ถ้าราคาตลาดลด ต้นทุนเราลดด้วย
ส่งผลให้ขาดทุนน้อย ไม่เครียด ไม่กังวล
หากราคาพลิกเป็นเพิ่มขึ้น ก็ขายกำไรง่ายครับ
จบ

สนับสนุนความรู้ - เรียน Adwords เชิงกลยุทธ์ By SearchMonopoly

Read More »

วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2559

LTF 7 ปี ดีไหม ส่งผลกระทบอย่างไร







LTF 7ปี ดีไหม



ปีนี้ การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)มีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ 

โดยผู้ซื้อ LTF ตั้งแต่ 1/1/59 จนถึง 31/12/62 ต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 7ปีปฏิทิน (จากเดิม5ปี) ถึงจะได้รับการลดหย่อนภาษีและยกเว้นภาษีของกำไรจากการขายหน่วยลงทุน มูลค่า LTFสูงสุดที่ซื้อได้คือ ไม่เกิน15%ของรายได้ และไม่เกิน 500,000 บาท


ผลที่เกิดขึ้นคือ ผู้ซื้อ LTF ต้องถือหน่วยลงทุนนานขึ้น 
ถ้าเปรียบเป็นร้านค้า คือต้องปล่อยเครดิตนานขึ้น ได้ทุนคืนช้าลง
ซึ่งไม่ดี เพราะหากปีที่ 6-7 จำเป็นต้องใช้เงิน 
ก็ไม่สามารถขายLTFเพื่อนำเงินมาใช้ได้ 
อาจต้องกู้เงินซึ่งเสียดอกเบี้ยมาใช้จ่าย 
ดังนั้นการที่LTFเพิ่มเวลาถือหน่วยลงทุน 
จึงทำให้การบริหารเงินสดในชีวิตยากขึ้น 


คำกล่าวที่ว่า เพิ่มเป็น7ปีก็ดี เพราะถือนานขึ้น กำไรก็มากตาม  
โดยส่วนตัวเห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะความจริง ไม่มีอะไรรับประกันว่า ขายปีที่7จะกำไรมากกว่าขายปีที่5 
เนื่องจาก LTFลงทุนหุ้นในสัดส่วนที่เยอะมาก
เมื่อตลาดหุ้นสดใส ราคาหุ้นส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น ราคาLTFจะเพิ่มตาม
กลับกัน หากเกิดวิกฤติ ราคาหุ้นดิ่งเหว ราคาLTFจะลดลงตามด้วย
ในโลกความจริง ไม่มีใครรู้ว่าปีไหน ตลาดหุ้นจะอยู่ในภาวะใด
หากปีที่7 ตลาดหุ้นเป็นแนวโน้มขาลงหรือเกิด Crash พอดี
เมื่อถึงตอนนั้น ราคา LTFอาจต่ำกว่าปีที่ 5 ก็ได้

สรุปคือ LTF 7 ปีเป็นการเปลี่ยนแปลงที่แย่ลง เพราะข้อจำกัดมากขึ้น






LTFยังน่าสนใจหรือไม่


แม้ต้องถือ LTFนานขึ้น 
แต่สำหรับคนที่ต้องการลงทุนระยะยาว ไม่มีเวลาเลือกหุ้นเอง 
แถมได้ลดหย่อนภาษีอีก
LTFก็ยังน่าสนใจ 
เพราะจากสถิติ การลงทุนระยะยาว 5-7 ปีด้วยLTF
มีโอกาสขาดทุนน้อย ผลตอบแทนเยอะกว่าเงินฝากมาก
ข้อดีอีกอย่างของ LTF คือยืดหยุ่นสูง 
ตัวอย่างเช่น ครบ7ปี อาจไม่ขาย สะสมเพื่อเป็นเงินใช้หลังเกษียณเหมือนRMF
หรือปีไหนกำไรเยอะ ขายทำกำไรบ้าง ก็ทำได้
หากมีช่วงเวลาต้องการใช้เงิน ก็แบ่งขายเพื่อนำเงินสดมาใช้จ่าย เป็นต้น
ขณะที่ RMF ต้องถือจนถึงอายุ 55 ปันผลก็ไม่มี
ดังนั้น  LTF จึงเพิ่มทางเลือกแก่นักลงทุน ช่วยเรื่องบริหารเงินส่วนบุคคลให้ง่ายขึ้นครับ



สนับสนุนการเรียนรู้ Google Adword โดย SearchMonopoly

Read More »

วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2559

5 กลยุทธ์บุกตลาด AEC

1 มกราคม 2559 ไทยจะเป็นส่วนหนึ่งของ
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC อย่างเป็นทางการแล้วนะครับ


AEC คือ การร่วมกันทางเศรษฐกิจของ 10 ประเทศ
คือ ไทย  พม่า ลาว เวียดนาม  มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และบรูไน
สิ่งที่เกิดคือ การยกเลิกภาษีและทลายกำแพงกีดกันการค้าระหว่างประเทศสมาชิกAEC 
ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจไทยส่งสินค้าไปขายยังประเทศกลุ่ม AEC ง่ายขึ้นเพราะต้นทุนค่าดำเนินการลดลงมาก


จุดเด่นของ AEC คือประชากรรวมกันเกือบ 600 ล้านคน GDPเติบโตต่อเนื่อง
มีคนวัยทำงานจำนวนมากและเป็นกลุ่มคนที่รายได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ทำให้ AEC มีกำลังบริโภคขนาดมหึมาและมีแนวโน้มต้องการสินค้ามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จึงเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการธุรกิจไทยในการขยายธุรกิจ
เพราะได้รับประโยชน์เรื่องภาษีและสิทธิการค้าในฐานะสมาชิกของ AEC
อีกทั้งความต้องการสินค้าใน AEC ยังมีอีกมาก


อย่างไรก็ตาม การบุกตลาด AEC ต้องมีกลยุทธที่ดี
เพราะอย่าลืมว่า ผู้ประกอบการจากประเทศอื่นใน AEC ก็ได้สิทธิประโยชน์เหมือนกัน
ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างรุนแรง
โดยผมได้สรุป 5 กลยุทธ์ ที่ทำให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จในการก้าวสู่ตลาด AEC ดังนี้








กลยุทธ์ที่ 1 ศึกษาตลาดใหม่ ๆ ที่ใหญ่ขึ้น
ผู้ประกอบการธุรกิจควรเลือกตลาดเป้าหมายให้สอดคล้องกับสินค้าหลักของตนเอง
เพราะเป็นสินค้าที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว
โดยควรศึกษาข้อมูลสภาพแวดล้อม ภาวะเศรษฐกิจ
รวมถึงรสนิยมของผู้บริโภคในตลาดอาเซียนเพื่อเลือกเข้าสู่ตลาดที่ถูกต้อง



กลยุทธ์ที่  2 เรียนรู้คู่แข่ง
ผู้ประกอบการธุรกิจต้องศึกษาคู่แข่งเพื่อให้เกิดความพร้อมที่จะแข่งขันได้
โดยต้องวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของคู่แข่ง 

แล้วปรับปรุงสินค้าของเราให้แตกต่างและดีกว่า
เพื่อจะได้ถูกใจผู้บริโภคมากขึ้น



กลยุทธ์ที่  3 ใช้ประโยชน์จากการงดเว้นภาษีและการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี 
เมื่อเปิดตลาด AEC การนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศในกลุ่มอาเซียนจะไม่เสียภาษี
การย้ายฐานการผลิตไปประเทศที่เหมาะสมก็ง่ายขึ้น
ผู้ประกอบการควรใช้ประโยชน์จากมาตรการเหล่านี้ เพราะทำให้ต้นทุนสินค้าถูกลง
นอกจากนี้การเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีใน 7 สาขา

คือ วิศวกร พยาบาล สถาปนิก นักสำรวจ แพทย์ ทันตแพทย์ และนักบัญชี
จะทำให้หาแรงงานที่มีฝีมือและค่าจ้างไม่แพงง่ายขึ้น



กลยุทธ์ที่  4 ศึกษากฎระเบียบของประเทศต่างๆ
ผู้ประกอบการธุรกิจต้องเข้าใจในกฎหมาย กติกาการค้าระหว่างประเทศหรือประเทศคู่ค้า “Term of Trade”
การลงทุน การทำสัญญา และกฎหมายการค้าของประเทศที่อยู่ในอาเซียน
เพื่อประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายในการส่งออกสินค้า
อีกทั้งยังช่วยป้องกันการถูกหลอกจากบริษัทคู่ค้าและเจ้าหน้าที่ในประเทศนั้นๆ ได้อีกด้วย


กลยุทธ์ที่ 5  ทำลายกำแพงภาษา
ผู้ประกอบการธุรกิจควรจะส่งเสริมให้บุคลากรในบริษัทใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร
เพื่อสะดวกในการติดต่อธุรกิจระหว่างประเทศ
ยิ่งหากมีบุคลากรที่สื่อสารภาษาท้องถิ่นได้
เช่น ภาษามาเลเซีย ภาษาเวียดนาม ภาษาพม่า และภาษาอื่นๆ ในอาเซียน
ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสการบรรลุข้อตกลงทางธุรกิจให้ง่ายขึ้น

ใครที่อยากทำธุรกิจบุกตลาด AEC อย่าลืมนำกลยุทธ์เหล่านี้ไปใช้
พร้อมศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เช่น เทรนด์ SME ที่เหมาะกับ AEC นะครับ


The end


สนับสนุนการเรียนรู้ Google Adword โดย SearchMonopoly

Read More »
Google